นครปฐม - วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงวิกฤต โดยทีมสัตวแพทย์ที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือรับสถานการณ์น่าห่วงและยังรุนแรงได้อีก โดยตอนนี้กระทบม้าทุกวงการ แม้กระทั่งม้าที่ทำเซรุ่มเริ่มมีติดเชื้อแล้ว
หลังจากมีข่าวเรื่องการล้มตายของม้าเป็นจำนวนมากในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อราวเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการยืนยันว่า สถานการณดังกล่าวคือการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness ; AHS) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย โดยคาดว่าน่าจะมีการแพร่ระบาดจาการนำเข้าม้าลายในประเทศแถบแอฟริกาใต้เข้ามาในประเทศไทย และมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะในการแพร่ระบาดอย่างหนัก หรือที่เรียกว่า ห่าลงในม้า
โดยขณะนี้มีม้าที่ได้รับเชื้อและตายไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ตัว ซึ่งพื้นที่ระบาดอย่างหนักใน 6 จังหวัดกำลังมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ โดยจะมีคลิปของเจ้าของม้าออกมาโพสต์ลงโซเชียลถึงความน่ากลัวในความทรมานของม้าที่กำลังจะตายไปต่อหน้าหลังจากรับเชื้อไปราว 24 ถึง 48 ชั่วโมง แต่ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปยังเหมือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เป็นที่รู้มากนักสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งโมเดลการแพร่ระบาดนั้นมีความคล้ายกับการแพร่ของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนี้ในหลายๆประเด็น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ในวงการม้าในประเทศไทย และยังไม่มีคำตอบว่าจะสามารถทำให้วงการม้ากลับมาได้ดังเดิมอีกครั้งเมื่อไหร่ เนื่องจากม้ามีชื่อสายพันธุ์ดี ดีกรีแชมป์และได้รับการยอมรับว่ามีสายพันธุ์ชั้นดีนั้นได้ตายลงไปเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนนั้นยังไม่รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงมากนัก
ผศ.สพ.ญ.อารีย์ ไหลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีความผิดปกติราวเดือนมีนาคม เมื่อมีม้าในคอกที่อำเภอปากช่อง จังหวัดราชสีมา มีการล้มตาย 1 ตัว แต่ไม่นานตัวที่ 2 ก็ล้มตายโดยมีอาการลักษณะเหมือนกัน โดยมีอาการหอบ ตาแดง ขมับบวม และมีม้าอีกหลายตัวได้ล้มตายในเวลาอันรวดเร็วตามมาซึ่งเกิดเป็นโรคระบาดแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งได้มีการนำเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการจนยืนยันได้ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นคือ โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness ) หรือจะเรียกสั้นๆว่า AHS ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อ คือ ม้า ลา ล่อ ม้าลาย และอูฐ โดยมีแมลงดูดเลือดประเภท ลิ้น เป็นพาหะในการนำไปแพร่ชื้อ
ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบไทม์ไลน์ พบว่า สัตว์ที่เข้าข่ายคือการนำเข้าม้าลายมาจากประเทศแอฟริกาใต้และประเทศนามิเบีย หลายครั้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุในการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยครั้งแรกที่พบมีการแพร่ระบาดคือเดือนกุมภาพันธ์ จนมาถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อถึงเวลานี้มีม้าที่ได้รับเชื้อและตายไปแล้ว 500 กว่าตัว และยังมีตายต่อเนื่อง ซึ่งถ้าจะเรียกแบบคนโบราณคือ ห่าลง ซึ่งทำให้ม้าล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยไวรัสชนิดนี้มีความรุนแรงมาก เพราะเมื่อม้าได้รับเชื้อเข้าไป ภายใน 24-48 ชั่วโมงส่วนมากจะตายทันที และจะตายอย่างทรมานคือ การไปทำให้ระบบหายใจและระบบหัวใจล้มเหลว โดยมีอัตราการตาย 95 เปอร์เซ็นต์
ผศ.สพ.ญ.อารีย์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในม้านั้นคล้ายกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในคน ซึ่งม้าในประเทศไทยนั้นถือว่าเกิดวิกฤตหนักเพราะรับแรงจากทั้ง 2 โรคระบาดไปพร้อมกัน ซึ่งในไวรัสโควิด-19 นั้นจะแพร่กระจายโดยสารคัดหลั่ง แต่ใน AHS นั้น แพร่โดยแมลงดูดเลือดและมีสภาวะ Super spreader เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ซึ่งแมลงดูดเลือดเพียงตัวเดียวก็สามารถแพร่เชื้อให้ม้าตายได้ ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่พีกที่สุดช่วงหนึ่งของการแพร่ระบาดและยังสามารถพีกได้มากกว่านี้อีก เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยไม่เคยพบมาก่อน
“สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้ คือทีมสัตวแพทย์ หรือกลุ่มหมอม้า ได้ลงพื้นที่ไปในพื้นที่ที่แพร่ระบาดเพื่อรักษาชีวิตม้าให้ได้มากที่สุด ในพื้นที่แพร่ระบาด โดยแบ่งวงรัศมี ในพื้นที่แพร่ระบาด 20 กิโมเมตร พื้นที่ป้องกัน 50 กิโลเมตร และพื้นที่เสี่ยง 100 กิโลเมตร ซึ่งผลกระทบเป็นวงกว้างซึ่งการตายของม้าตายอย่างทุรนทุรายทำให้กระทบจิตใจของผู้เลี้ยงและประชาชนที่เห็น และม้าบางตัวเป็นม้าที่ดี มีอาชีพในตัวเอง ทั้งมีดีกรีระดับโลก ม้าที่มีสายพันธุ์ดี ม้าที่เป็นสายพันธุ์แข่ง พวกนี้รับเชื้อไปแล้ว แต่ถ้าเราจะนับแยกประเภทคือม้าทหาร ม้าตำรวจ ม้าในสภากาชาดไทย ตอนนี้มีการได้รับเชื้อไปแล้ว ถ้าม้าฝูงนี้ล้มตายหมดเราอาจจะประสบปัญหาในการผลิตเซรุ่มในการแก้พิษงูในประเทศ ซึ่งหากจะมีการเพาะเลี้ยงขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลาไม่น้อย ม้างานบวช ม้าชายหาด กลุ่มคนที่ทำงานกับม้า ผู้ผลิตอาหารให้ม้า พวกนี้กระทบหมด เพราะถ้าม้าตายแล้วกลุ่มคนพวกนี้ก็จะไม่มีอาชีพไปด้วย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าว
ผศ.สพ.ญ.อารีย์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้สิ่งที่ทำจากทีมสัตวแพทย์คือ การนำวัคซีนลงไปฉีดให้แก่ม้าในพื้นที่ระบาดและพื้นที่ป้องกัน ซึ่งวัคซีนยังไม่เพียงพอ เพราะม้าที่มีการลงทะเบียนและขึ้นทะเบียนไว้มีอยู่ 1.2 หมื่นตัว มีวัคซีนชุดแรกมาแล้ว 4 พันโด้ส โดยเมื่อฉีดไปแล้ว ต้องรอ 28 วันเพื่อการสร้างภูมิเพื่อให้เกิดซึ่งกลุ่มที่ยังได้รับวัคซีน สิ่งที่ต้องทำคือการกางมุ้งให้ม้าเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือดให้ม้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในเบื้องต้นขณะนี้
แต่สิ่งที่ยากคือกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงม้า ลา ล่อ ม้าลาย ที่ยังไม่ทราบข่าวก็ยังไม่เข้าใจบางรายก็ไม่เชื่อ ซึ่งตรงนี้หากได้รับเชื้อก็ยังจะเป็นพาหะให้แก่แมลงดูดเลือดได้อีก ซึ่งในตอนนี้ประเทศออสเตรเลีย และประเทศจีน ได้ทำการป้องกันในประเทศของตัวเองแล้วโดยการตรวจเลือดและเตรีมการแล้ว เนื่องจากข้อมูลแมลงดูดเลือดในทวีปแอฟริกา สามารถบินโดยผ่านลมไปได้ถึง 700 กิโลเมตร ซึ่งหากประเทศไทยมีการปลดล็อกโควิด-19 และมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปในพื้นที่อื่น หรือแมลงดูดเลือดเกาะสัตว์เช่น วัว ควาย และติดรถออกไปจะทำให้การควบคุมเกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งถ้าคุมไม่อยู่ถือว่าจะวิกฤตหนักและม้าจากประเทศไทยจะถูกจารึกว่ามีการฝังเชื้อไวรัส AHS G เอาไว้ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้เลี้ยงที่ยังอยู่ห่างพื้นที่ระบาดต้องตื่นตัวเบื้องต้นต้องกางมุ้งและกำจัดแมลงให้ได้มากที่สุดก่อนในเบื้องต้น
ด้าน นายเพิ่มพูน เพียรประสพ เจ้าของฟาร์มและทีม Siam Western Performance Horses กล่าวว่า สำหรับโรคระบาดที่กำลังเกิดตอนนี้สิ่งที่หวาดกลัวที่สุด คือกลัวโรคจะมาถึงพื้นที่คอกที่เลี้ยง เพราะโรคนี้ติดเชื้อง่ายและเป็นแล้วตายเร็ว มีอัตราการรอดน้อยมาก จากม้า 500 กว่าตัวที่ตาย มีรอดเพียง 2 ตัว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในวงการม้าไทย ตนเองได้ติดตามข้อมูลจากประเทศกลุ่มแอฟริกาที่เป็นแหล่งของไวรัสชนิดนี้ และได้นำมาปรับใช้ในการเลี้ยงม้า โดยเฉพาะการกางมุ้งให้ม้าโดยกางทั้งโรงเลี้ยงและลานซ้อม และมีการจัดการทำลายแมลงโดยรอบ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง ซึ่งประเทศของเราเป็นประเทศร้อนชื้น มีฝนตกบ่อยอัตราการเกิดของแมลงก็มีมาก และไม่ใช่แค่เพียงลิ้น ที่มีอยู่ยังมี ลิ้นชนิดต่างๆ เหลือบ ไร และยุงที่ยังดูดเลือดม้าได้ ยิ่งช่วงที่มีพายุฤดูร้อนยิ่งเครียดเพราะทุกครั้งที่เกิดพายุลมแรง เราจะพบว่ามีจุดของการแพร่ระบาดใหม่ขึ้นในอีก 3-5 วันเท่านั้น อากาศก็มีผลมากด้วย
นายเพิ่มพูน กล่าวต่อว่า สำหรับคอกของตนเองนั้นเป็นคอกที่เลี้ยงม้าและมีการผลิตนักขี่ม้าที่มีการแข่งขันม้าประเภท Reining โดยมีม้าและนักแข่งที่เป็นแชมป์ประเทศไทย 4 สมัย และยังมีการรวมตัวไปสร้างชื่อในการแข่งขันระดับโลก ที่ประเทศอิตาลี ในอันดับที่ 14 และไปคว้าแชมป์เยาวชน 2 ประเภทและประเภทโอเพ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 53 ที่ผ่านมา โดยกำลังมีนักกีฬาที่ได้รับการจับตาระดับโลกแต่ก็มาเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 และมาซ้ำที่ไวรัส AHS ในม้าซ้ำอีก บอกว่าในวงการขี่ม้าแข่งนั้นเรายังมองไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะเป็นยังไงต่อไปทั้งนักกีฬาและม้า เพราะม้ากว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาสร้างกล้ามเนื้อ 1 ปี นักกีฬาก็ไม่ได้ซ้อม ตอนนี้ทำได้เพียงรักษาชีวิตม้าไว้ให้ได้ก่อน ซึ่งภาพที่เจ้าของหลายคนได้โพสต์คลิป ม้าตายอย่างทรมานนั้นคนเลี้ยงม้านั้นทรมานใจที่และรับไม่ได้เราถึงพยายามที่สุดในการปกป้องม้าเอาไว้
“ถึงม้าจะไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ แต่มีความพิเศษระหว่างคนเลี้ยงและม้า ที่ผ่านมาทั่วโลกมีความผูกพันกับม้า ทั้งในเรื่องการเกษตร การขนส่ง การทำสงคราม การนำมาเป็นกีฬา และแยกประเภทกีฬาต่างๆ ม้ามีความผูกพันกับคนมานานและม้ากับคนไทยก็มีเรื่องราวที่ผูกพันกันทั้งม้างานบวช ม้าวิ่งแข่ง ม้าวิ่งแข่งกับควายเป็นความเชื่อมโยงกัน แต่มีความสำคัญมาก แม้ตอนนี้ในคอกผมม้าได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็มีอาการไม่ดีหลายครั้ง เพราะมีอุณหภูมิสูงขึ้นหลังรับวัคซีน มีอาการขมับบวมซึ่งเราต้องรอ 28 วันถึงจะรู้ว่ามีภูมิแต่อาการที่ออกคือเราไม่รู้ว่าผลมาจากวัคซีนหรือเกิดจากการติดเชื้อ ตอนนี้ก็ยังต้องระวังอย่างหนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่กับเรามาก โดยอยากจะบอกว่า ตอนนี้คนที่เลี้ยงม้าต้องออกมาช่วยกันปกป้องม้าของตัวเองเบื้องต้นคือการกางมุ้งก่อน ซึ่งถ้าเรารักษาชีวิตม้าตัวเองได้ก็หมายถึงรักษาชีวิตม้าของเพื่อนได้ เมื่อรักษาม้าของเพื่อนได้ก็รักษาม้าในประเทศเราได้ด้วย” นายเพิ่มพูน กล่าวปิดท้าย
ซึ่งสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัส AHS ในประเทศไทย เริ่มมีม้าตายในพื้นที่ที่ขยายวงกว้างขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายกับวงการม้ามากขึ้น โดยมีผู้เลี้ยงและเจ้าของฟาร์มหลายคนได้ออกมาทวงถามว่า การนำเข้าม้าลายมาในประเทศและมีโรคเชื้อไวรัสติดมาด้วยนั้นเกิดขึ้นจากความบกพร่องของหน่วยงานใดหรือใคร และผลการตรวจเลือดม้าลายที่เป็นชุดที่น่าสงสัยว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นนั้นเป็นของใคร การควบคุมโรคนั้นมีการทำได้ในระดับใด รวมถึงวัคซีนในชุดที่ 2 และ 3 จะเข้ามาถึงม้าได้เมื่อใด หลังจากชุดแรก 4 พันโด้ส ได้ถูกกระจายออกไปยังม้าต่างๆ แล้ว แต่อย่างน้อยอีก 8 ตัวที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ยังมีเครื่องหมายคำถาม พอกับมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันและฟื้นฟูวิกฤตม้าไทยเมื่อไหร่ ซึ่งสื่อโซเชียลต่างๆ เริ่มให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นจากภาพม้าตายอย่างทรมานที่ปรากฏออกมาเรื่อยๆ ว่าทางออกจากเป็นอย่างไรและเมื่อไหร่ ยังเป็นประเด็นที่มีเครื่องหมายคำถามในอีกหลายประเด็น