พิษณุโลก - ส่องชีวิต อสม.พิษณุโลก ตระเวนวัดไข้กรองโควิดทุกบ้านตามโครงการนำร่อง 3 จว. ต้องควักตังค์ซื้อข้าว-เติมน้ำมันเอง ฝ่าแดดร้อนเกาะรั้ววัดอุณหภูมิ โดนทั้งสุนัขไล่-คนด่าสารพัดไม่พอ ส่อถูกเบียดบังเบี้ยเลี้ยงอีก บอกถ้าได้ 240 บาทต่อวันยังต้องหาร 5 เหลือแค่ 48 บาท/วัน/คน
กรณี อสม.พิษณุโลกนับร้อยคนบุกศาลากลางฯ วานนี้ (5 พ.ค.) เพื่อทวงเงินเบี้ยเลี้ยง 240 บาทระหว่างปฏิบัติงานตรวจคัดกรองโควิด-19 จากผู้ว่าฯ พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจง 7 ข้อสงสัย หลังมีคำสั่งให้ อสม.1 คนไปวัดอุณหภูมิประชาชนต่อ 100 หลังคาเรือน พร้อมลงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันระบุพิกัดที่อยู่ขณะวัดอุณหภูมิ แต่สุดท้ายหน่วยงานราชการบอกผิดระเบียบกรมบัญชีกลาง..ไม่สามารถเบิกเงินมาให้ อสม.ได้
นางบุญยืน เพ็ชรนิล 1 ใน 600 อสม.เขตเทศบาลนครพิษณุโลกที่ออกปฏิบัติงานตามโครงการนี้ เปิดเผยว่า ชีวิต อสม.ไม่ได้สวยหรูอย่างที่บางคนคิดว่าสบาย แค่เดินไปตามบ้านไปมาเท่านั้น ตนเป็น อสม.มา 20 ปีนับตั้งแต่ไม่มีเงินเดือน จนมีเงินเดือน 600, 800 และ 1,000 บาท แต่วันนี้ที่ทำเพราะรักและเต็มใจรับใช้ชุมชน
ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยงตรวจคัดกรองโควิด-19 นี้เกิดขึ้นมาเมื่อหมอคนหนึ่งบอกว่าให้ตนไปตรวจเช็กวัดอุณหภูมิตามบ้านเรือนประชาชน 1 คนต่อ 100 หลังคาเรือน วันนั้นก็ดีใจ..รุ่งขึ้นรีบไปทำงาน แม้บอกให้ทำฟรีก็จะทำ แต่บังเอิญเขาสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทน 240 บาทต่อวันต่อหนึ่งทีม
โดยนัดรวมตัวกับเพื่อนออกทำงานตั้งแต่ 08.00 น.ไปตามหมู่บ้านในเมืองพิษณุโลก ซึ่งนับร้อยนับพันหลังคาเรือนก็ไม่มีปัญหาใด มีเพียงส่วนน้อยที่โวยวายไม่ให้ความร่วมมือ แต่ที่แสบสุดๆ ก็คือเจอชาวบ้านว่าเราโง่ ไม่มีสมอง ออกมาทำงานทำไม เขาก็วัดอุณหภูมิเป็นอยู่แล้ว ตนจึงบอกว่าทำตามหน้าที่ เขาก็ยังให้ไปบอกคนสั่งด้วยว่า..โง่ที่ทำแบบนี้ ไร้สมอง ตนก็ไม่ว่าอะไร..ต้องนิ่ง
ขณะที่บ้านบางหลัง เจ้าของบ้านบอก..สุนัขไม่กัด พอเดินเข้าไปก็เกือบโดนหลายครั้ง บางหลังก็ไล่ไม่ให้เข้าบ้าน บางรายแสดงกิริยาไม่พอใจ มองเราเหมือนตัวตลก อย่างไรก็ตาม ตนก็ไปทำงานอย่างเร่งรีบทุกวันกว่าจะกลับบ้านก็ค่ำ และยังต้องป้อนข้อมูลเข้าแอปฯ ทางออนไลน์ทุกคืนไม่ให้สะสม ต้องเป็นปัจจุบันทุกวันจนถึง 30 มี.ค. 63 ตามกำหนดเวลาที่ภาครัฐต้องการ
“ถามว่าเหนื่อยไหม ก็ต้องดูสภาพตามรูป คือ นั่งบนถนน หลบใต้ต้นมะม่วง ส่องวัดไข้ลูกบ้านหน้ารั้วเพราะเขาไม่ให้เข้าบ้านผวาจะนำเชื้อโควิดไปติดที่บ้าน นอกจากนี้ อสม.ยังมีงานแจกปรอทเพิ่มอีก ก็ไม่วายถูกด่าทอเช่นกัน เช่น เอาของเด็กเล่นมาแจกทำไม”
นางบุญยืนเล่าชีวิต อสม.กลางวิกฤตโควิดระบาดพิษณุโลกอีกว่า ขี่จักรยานยนต์ เดินเท้าออกแดดไปตรวจวัดไข้ลงตัวเลขอุณหภูมิชาวบ้าน พอเที่ยงก็แวะซื้ออาหารกิน ช่วงโควิดระบาดแรกๆ บางพื้นที่ร้านค้าก็ไม่มีอะไรให้กินอีก ส่วนถ่านหรือแบตเตอรี่ใส่เทอร์โมสแกนแต่ละคนในทีมก็รวมกันซื้อเอง นำเครื่องไปตรวจไข้นานกว่า 3 ชั่วโมงเครื่องรวนแล้ว ต้องนั่งรออีก
ซึ่งยอดเงินเบี้ยเลี้ยง หากจ่าย 240 บาทตามสัญญา คำนวณได้ประมาณ 5 พันต่อทีม เมื่อเฉลี่ยเป็นทีมก็จะเหลือประมาณ 40 บาทต่อวันต่อคน แต่ถ้าจ่าย 120 บาทก็จะเหลือประมาณ 20 บาทต่อวันต่อคน ถ้าวัดกันที่ตัวเงินก็ไม่ต้องหวังรายได้ แต่สิ่งที่ อสม.อยู่ได้เพราะจิตอาสา มีใจให้กันเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็รู้ว่าดูเหมือนจะถูกหลอกอีก ก็เสียใจที่รัฐมาหลอกตน วันนี้เพียงแค่ขอความชัดเจนว่าจะให้หรือไม่ให้ก็บอกมา ยอด 120 หรือ 240 บาทต่อวัน ขอให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
“หากผู้ว่าฯ จะจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงโดยให้เบิกเป็นค่าอาหารแทน ลักษณะเขียนใบใหม่ คงไม่เอาแล้วกับเงินแค่นี้ เพราะ อสม.จะไม่สร้างหลักฐานเท็จ จะไม่โกงเงินหลวงเป็นอันขาด จะบอกว่าเรายึดอาชีพ อสม.คงไม่ใช่ เพราะเรามีอาชีพหลักๆ คือขายผักปลอดสารหน้าอำเภอเมืองฯ ผัดหมี่วางแผงอยู่ร้านอาหารริมแม่น้ำน่าน ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย ต้องหยุดเพราะโควิดเหมือนกันทั่วประเทศ”
นายอธิพงษ์ นาทิพย์ อีกหนึ่ง อสม.ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองนครพิษณุโลก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเจอปัญหา ชาวบ้านด่าทอว่า “บอกให้อยู่บ้าน แล้วจะมาวุ่นวายอะไรอีก” จากนั้นปล่อยให้เรารออยู่หน้าบ้าน กว่าจะเขียนข้อมูล ชื่อ กรอกบัตรประชาชน วัดไข้ รายละประมาณ 15 นาที และก็ไม่สามารถลงแอปฯ ได้ทันที ต้องลงกลางคืน เพื่อที่วันหนึ่งจะต้องเร่งเดินให้ได้ 100 หลังคาเรือน ซึ่งทำคนเดียวไม่ไหวอยู่แล้ว จะต้องทำเป็นทีม ทีมละ 4-5 คน เมื่อผู้ว่าฯ บอกให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาท ทำงานอยู่ 14 วัน คำนวณแล้วได้เงิน 3,360 บาท จะต้องหาร 5 คน ได้แค่คนละ 600 บาทเศษ เฉลี่ยวันละ 48 บาทต่อคน ถ้าบอกให้วันละ 120 บาท ก็คือค่าเบี้ยเลี้ยงทำงานก็แค่ 24 บาทต่อคนต่อวัน
นางสุดใจ เอี่ยมสาย อสม.กล่าวว่า รู้สึกไม่พอใจเงินค่าเบี้ยเลี้ยง 120 บาทเพราะต้องไปลงพื้นที่ซ้ำอีก บอกให้ไปเอาลายเซ็นยืนยันจากชาวบ้านที่ อสม.ไปลงตรวจคัดกรองโควิด-19 ว่าปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ ให้ครบทุกหลัง ครบทั้ง 20 วัน แล้วใครจะมาเซ็นให้อีก กว่าจะได้แต่ละหลังแสนยากลำบาก หนำซ้ำต้องให้ผู้นำหมู่บ้านเซ็นรับรองอีก รู้สึกท้อไม่อยากปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้แล้ว ถ้ารับปากเอาไว้ว่าจะให้ค่าเบี้ยเลี้ยงก็ต้องให้ ไม่ควรต้องทำให้ยุ่งยากแบบนี้
นางยมนา จันทร์มะโฮง กล่าวว่า ถ้าผู้ว่าฯ บ่ายเบี่ยง กลับไปกลับมาก็ขอไม่รับเงินเบี้ยเลี้ยงนี้เพราะทำไม่ได้อย่างที่พูดคุยตกลงกันไว้ว่าจะให้ 240 บาท อสม.ก็มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เด็กเล่นขายของ พูดอีกว่าจะให้ 120 บาท แต่ต้องมาทำงานเพิ่ม เดินสำรวจรายชื่อใหม่..มันไม่ใช่ เพราะเหมือนทำงานซ้ำซ้อน ชาวบ้านบางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจ เขาก็โวย..จะเอาอะไรหนักหนา
“คือถ้าบอกว่าไม่ได้เงิน ก็คือไม่ได้..จบ ถามว่ายังจะเป็น อสม.จิตอาสาอยู่หรือไม่ เราก็คงบอกว่ายังอยู่ในหน้าที่ เพราะตำแหน่ง อสม.เป็นจิตอาสาอยู่แล้ว อย่างไรเสียต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป”
ทั้งนี้ อสม.พิษณุโลกออกปฏิบัติการตรวจคัดกรองโควิดตามหนังสือที่นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผวจ.พล.เป็นผู้ลงนาม ที่ พล.0067/ว.2397 เรื่อง แอปพลิเคชัน ตรวจวัดอุณหภูมิประชาชน ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงนายอำเภอทุกอำเภอ
ซึ่งระบุใจความย่อๆ ว่า ด้วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกำหนดแนวทางบริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน โดยรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิของประชาชนทุกคนในทุกจังหวัด ทุกวัน ซึ่งสามารถแสดงข้อมูล Real Time และระบุพิกัดที่อยู่ของประชาชนขณะวัดอุณหภูมิ โดยใช้โครงสร้าง อปพร.ซึ่งดำเนินร่วมกับ อสม.ในพื้นที่ ซึ่งระยะแรกกำหนดดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต มหาสารคาม และพิษณุโลก และจะดำเนินการครบทุกจังหวัดต่อไป
กำหนดให้ดำเนินการดังนี้
1. แจ้งรายชื่อและจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ โดยใช้ฐานการคำนวณ จำนวน 100 หลังคาเรือนต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 1 คน (ผู้ปฏิบัติจะต้องมีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลทางแอปพลิเคชัน)
2. ชุดปฏิบัติการให้ อปพร.เป็นหัวหน้าชุด และมี อสม.ร่วมปฏิบัติงาน
3. จัดส่งรายชื่อแยกเป็นรายหมู่บ้านให้จังหวัดภายในวันที่ 7 เมษายน 63 โดยผู้ปฏิบัติการได้รับค่าตอนแทนจากราชการ
แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกจะมีแนวทางจ่ายค่าตอบแทนแก่ อสม.อย่างไร