อุบลราชธานี - ชาวสวนผักใจดีตั้งโต๊ะแจกพืชผักสวนครัวให้ผู้มีรายได้น้อยไปทำกินฟรีลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงผจญโรคระบาดโควิด-19 จนกว่าผักจะหมดสวน พ่อค้าแม่ค้าผักทราบนำมาเติมให้แจกได้มากขึ้น บอกแม้ไม่มีรายได้จากการขายผักแต่ก็อยู่ได้ เพราะบ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ได้ซื้อ อาหารก็มีเต็มหลังบ้าน
ที่ริมถนนชยางกูร เขตบ้านหนองแฝก ต.ยางสักกระโพลุ่ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่าง จ.อุบลราชธานีไป จ.อำนาจเจริญ มีชาวสวนปลูกพืชผักสวนครัวใจดี คือ นายสุรยุทธ ขันเงิน อายุ 50 ปี หรือรู้จักกันในชื่อของ “ช่างโจ” ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ประจำหมู่บ้าน นำผักที่ปลูกเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวตามฤดูกาล เช่น พริก มะเขือ สะระแหน่ หัวผักกาด หัวไช้เท้า
รวมทั้งผักอื่นๆ ที่เจ้าของสวนแห่งนี้ไม่ได้ปลูก แต่มีชาวสวนในละแวกใกล้เคียงที่ทราบเรื่องนำฝากมาให้ช่วยแจกแก่ประชาชนที่ต้องการ รวมกันวันละประมาณ 200-300 กิโลกรัม
นอกจากแจกผักแล้ว ยังมีแฟนเพจของช่างโจที่ทราบเรื่องได้ฝากเจลใช้ล้างมือฆ่าเชื้อโรค พร้อมหน้ากากผ้าอีกจำนวนหนึ่ง ให้ช่างโจช่วยแจกแก่ผู้ต้องการอีกแรง โดยผักที่นำมาวางแจกเริ่มเวลาแจก 16.00-18.00 หรือจนกว่าผักจะหมดในแต่ละวัน
นายสุรยุทธ หรือช่างโจ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่นำผักมาวางแจกหน้าร้านซ่อมรถของตน โดยแรกก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 ตนก็ได้แจกผักให้เพื่อนบ้านที่รู้จักในหมู่บ้านแบ่งกันไปกินเป็นประจำเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
กระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด-19 เห็นผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ แม่บ้าน คนตกงาน ที่ไม่มีรายได้ หรือมีกำลังซื้อต่ำได้รับผลกระทบ ส่วนผักที่ตนเองปลูก รถที่มารับซื้อผักก็น้อยลง เพราะการลำเลียงผักเข้าสู่ตลาดก็ลำบาก
จึงตัดสินใจนำผักที่ปลูกทั้งหมดจากพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ออกมาวางไว้บนโต๊ะริมถนน พร้อมกับขึ้นป้ายแจกให้เอาไปกินฟรีมาตั้งแต่เดือนก่อน
ซึ่งมีคนที่ขับรถผ่านไปมาได้มาเลือกหยิบเอาผักที่ต้องการไปปรุงเป็นอาหารได้ตามใจชอบ โดยไม่มีกำหนดจะมากหรือน้อย เพราะคนที่มาเอาผักก็รู้ดีว่าต้องเอาไปใช้เท่าไหร่ เพราะวันรุ่งขึ้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะหวนกลับมาเลือกเอาผักของวันใหม่ไปปรุงเป็นอาหารอีก ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมากในช่วงนี้
นอกจากจะมีผักของตนที่เอามาแจกแล้ว ปรากฏว่าแม่ค้ารับซื้อผักส่งเข้าตลาด รวมทั้งเพื่อนบ้านที่ทราบว่าตนตั้งโต๊ะแจกผักฟรีก็เอาผักมาฝากให้ตนช่วยแจกให้คนตกทุกข์ได้ยากในยามนี้ด้วย ทำให้นอกจากมีผักจากสวนของตนแล้ว ก็ยังมีผักจากที่ต่างๆ เข้ามาช่วย ทำให้มีผักแจกได้ตลอดทุกวัน วันละ 200-300 กิโลกรัม
ตนจึงตั้งใจจะแจกไปจนกว่าผักที่สวนจะหมด ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานหลายเดือน เพราะยังมีผลผลิตออกมาเรื่อยๆ ส่วนตนแม้รายได้เสริมจากการปลูกผักจะหายไปในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ลำบากมาก เพราะอยู่บ้านนอก บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ กับข้าวก็มีอยู่เต็มสวน จึงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ ก็จะขอแจกผักไปเรื่อยๆ ทุกวัน โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน
ด้านนางสาวละไม โพธิ์ศรี ชาวบ้านที่มาเอาผักที่ช่างโจแจก กล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นสังคมแห่งการแบ่งปันเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตมีคนตกงาน และเห็นความมีน้ำใจของช่างโจที่นำผักปลูกเองมาแจก รวมทั้งความมีน้ำใจของแม่ค้าผักที่เอาผักมาให้ช่างโจช่วยแจก อยากให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันแบบนี้กระจายไปทั่วทั้งประเทศไทยก็จะดีมาก