เปิดใจผู้ป่วยโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร รีวิวการรักษา “กินอิ่ม-นอนหลับ-ได้รับการดูแลอย่างดี-เจ้าหน้าที่น่ารัก” ด้านโลกโซเชียลฯ แห่ติดแฮชแท็ก #saveบำราศนราดูร ส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์และพยาบาลทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้
ไม่พอใจ ไม่รีวิว!
“พอผมมาเข้ารับการรักษา ผมก็เขียนลงในเฟซบุ๊ก 1 2 3 4 มาตรฐานผมนะ คิดว่ามันโอเคกับโรงพยาบาลรัฐบาล ผมเคยเข้าโรงพยาบาลเอกชนเซอร์วิสมันก็จะคนละแบบ แต่อันนี้คำพูดคำจาเขาดี ไม่ได้มากระโชกโฮกฮาก พอใจถึงได้แชร์ไปว่าเรารู้สึกแบบนี้นะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่ผมเจอเป็นแบบนี้เท่านั้นเองครับ”
สิรภพ สุขสำราญ หรือ อู ชายเจ้าของธุรกิจส่วนตัววัย 44 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงการรีวิวประสบการณ์การรักษาตัวจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Sirapop Suksamran” ซึ่งโลกออนไลน์ให้ความสนใจและแชร์โพสต์นี้ไปแล้วกว่า 1,300 ครั้ง
ก่อนหน้านี้นั้น ได้เกิดประเด็นดรามาจากผู้ติดเชื้อที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ตำหนิการดูแลของเจ้าหน้าที่ของสถาบันแห่งนี้ ว่าไม่ดีอย่างที่คิดและไม่ได้มาตรฐาน จนโลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก #saveบำราศนราดูร เพื่อเป็นการปกป้องสถานพยาบาลแห่งนี้ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน
โดยกรณีของผู้ป่วยรายนี้ ได้เล่าย้อนไปถึงวันที่พบเชื้อว่า “ผมเจอผู้ป่วยวันที่ 11 มี.ค.ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าป่วย ท่านอายุเยอะ ทำโทรศัพท์ให้แล้วก็คุยกันใกล้ชิดกัน พอมาวันที่ 15 มี.ค.ถึงทราบว่าคนที่ผมไปเจอเกิดติดเชื้อ วันที่ 16 มี.ค. ผมก็มาตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร ก็รอผลจากแล็บของกระทรวงฯ คอนเฟิร์มก็คือวันที่ 20 มี.ค.
พอรู้ว่าติดเชื้อก็กักตัวเองอยู่บ้าน ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอนิดหน่อย แต่อาการของผมจะเป็นๆ หายๆ เจ็บคอ ไอ สักประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็หาย มีไข้ประมาณ 38.5 ครั้งหนึ่งก่อนที่จะมาโรงพยาบาล แต่ไม่ได้กินยานะ ก็พักผ่อนแล้วลงไปเอง
ผมมาแอดมิดที่สถานบำราศฯ ตอนเย็นวันที่ 20 มี.ค.ก็รอตรวจร่างกาย เขาก็เก็บสารคัดหลั่ง เอกซเรย์ปอดตามขั้นตอน แล้วค่อยขึ้นมาวอร์ดผู้ป่วย พยาบาลมาแนะนำ ได้คุยกับหมอจริงๆ คือวันถัดมา คุณหมอก็มาแนะนำว่าลักษณะของการรักษา เขาจะรักษาอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
พอมาวันที่ 2 ถึงเริ่มให้ยา ยาที่ให้จะเป็นยาที่ใช้รักษามาลาเรีย ซึ่งตัวนี้มันจะเป็นเม็ดกลมๆ สีขาวรูปยุง มันจะมีผลในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเรา แล้วก็ช่วยเคลียร์ไวรัสได้บ้าง เป็นยาเบาๆ วันละ 4 เม็ด เช้า 2 เย็น 2 ซึ่งผลข้างเคียงของยาสำหรับตัวผมจะทำให้ปวดท้องเหมือนจุกเสียด แต่ก็ไม่รุนแรงมาก เขาก็จะให้ยาลดการเกร็งในช่องท้องมา”
เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อผู้ป่วย เขาก็กล่าวว่า ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และไม่ถูกแสดงทีท่ารังเกียจแต่อย่างใด
“ดีครับ พยาบาลก็น่ารัก มาดูแลตลอด คอยมาถามไถ่ว่าเอาอะไรมั้ย ของใช้ส่วนตัว มาสก์ แอลกอฮอล์ ชุดผู้ป่วย คอยเก็บขยะ ทำความสะอาด มาวัดไข้ เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง มาแจ้งว่าเดี๋ยวคุณหมอมานะ เวลานี้ๆ คุณหมอเวลามาเขาก็จะใช้เวลาพูดคุยกับเราประมาณนึง ถามไถ่ว่ามีอาการมั้ย ทุกคนน่ารัก คุยเป็นกันเอง ไม่ได้มีทีท่าเหมือนรังเกียจ ไม่ใช่เฉพาะกับผม แต่กับผู้ป่วยทุกคน”
ทั้งรักษา ทั้งศึกษา
“ลักษณะโซนที่ผมพักจะเป็น Open Air ล็อกใหญ่ๆ มี 4 คน เตียงปกติอาจจะติดกันหน่อยในผู้ป่วยห้องรวม แต่ว่าเคสโควิด แถวนึงจะมีแค่ 2 เตียง แต่ละเตียงจะห่างกันประมาณ 3 เมตร เขาก็จะบอกอย่าใกล้กันมาก เขาจะมีพื้นที่ว่าเดินได้แค่ไหน โซนผมจะอยู่ในสุดแล้วมีระเบียง ผมก็จะออกไปเดินไปเดินมา แต่ส่วนมากก็เล่นมือถือ”
สำหรับเคสของสิรภพ ถูกจัดอยู่ในประเภทของผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก และพักอยู่ในโซนที่มีพื้นที่ยืดเส้นยืดสายได้ เขาจึงใช้เวลาว่างระหว่างการรักษาตัว ไปกับการออกกำลังกายเบาๆ สลับกับการพักผ่อนให้เพียงพอ
“มันจะมีมุมที่เป็นทางเดินริมข้างนอก ก็จะมีจ๊อกกิ้งมั่ง วิดพื้นมั่ง ซิทอัป ผมคิดเองนะให้ร่างกายมันทำงานหน่อย ก่อนหน้านี้ผมเล่นกีฬาเป็นประจำ มันก็เลยทำให้เราหงุดหงิดถ้าไม่ได้ออกแรง ก็พยายาม นั่ง เดิน มากกว่านอน แต่ก็นอนเยอะกว่าคนปกติอยู่แล้ว
เขาจะมาเก็บตัวอย่างสลับกัน เอาไม้แหย่ในจมูกกับลำคอ ไปตรวจหาเชื้อ ตรวจเลือด ถามไถ่ว่าการหายใจเป็นยังไง เจ็บหน้าอกมั้ย ถ้าซีเรียสเขาก็มีเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ในวอร์ดผมก็จะมีเอกซเรย์ทุกวัน สลับกันไป อย่างที่เรารู้โคโรนาไวรัสมันอันตรายถ้าลงไปถึงปอด เขาก็ต้องระวังเป็นพิเศษ
สำหรับคนอื่นลักษณะการรักษาจะไม่เหมือนกัน อยู่ที่ผลเลือด ผลภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการมาก ยาที่ให้ก็จะไม่เหมือนกัน ลึกๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าแนวทางการรักษาเป็นยังไง แต่คุณหมอคุยให้ฟังว่า ด้วยความที่มันเป็นโรคอุบัติใหม่ เขาก็รักษาไปด้วย แล้วก็ศึกษาไปด้วย ว่าการให้ยาแบบนี้มันจะมีผลต่อร่างกายยังไง ผลข้างเคียงยังไง
โดยประมาณคุณหมอบอกว่าเร็วสุดที่เข้ามารักษาประมาณ 10 วัน นับจากวันที่มาแอดมิด แต่ว่าช้าเร็วก็อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ภูมิคุ้มกัน เราจะออกไปได้ก็ต่อเมื่อเขาตรวจว่าไม่มีเชื้อในตัวเราแล้ว ของผมใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษา”
เมื่อถามถึงความเห็นถึงมาตรการการจัดการไวรัสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาสะท้อนว่า เข้าใจและเห็นใจการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้ลงลึกและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่หน้างานด้วย และใช้โอกาสนี้ฝากกำลังใจไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำงานหนักเพื่อสุขภาพคนไทยทุกคน
“ผมก็ให้กำลังใจทางฝ่ายรัฐนะ แต่แค่รู้สึกว่าบางอย่างอยากให้ฟังคนที่เขาอยู่หน้างาน เพราะเขาเป็นทัพหน้า รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผู้หลักผู้ใหญ่อาจจะมองภาพรวมว่าควรจะจัดการอย่างนี้ แต่ว่าอยากให้รับฟังข้างหน้าหน่อยว่ามันเป็นอย่างนี้นะ สถานการณ์คนเข้าออก อันนู้นขาด อันนี้หาย อันไหนควรเร่ง เร่ง อันไหนใจเย็นได้ก็ใจเย็น คงทำเต็มที่ ก็หวังว่ามันคงจะไม่บานปลายไปจนน่ากลัว
อยากให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านมีกำลังใจในการทำงาน ทุกคนทำงานด้วยความเสียสละจริงๆ ก็อยากเป็นกำลังใจให้ ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ว่ามีอะไรขาดเหลือมั้ย เขาก็บอกว่าขาดหมด คือมันไม่ได้มีเหลือใช้ ทรัพยากรมันมีจำกัด ถ้ามันมีมาเติมให้ไม่ขาดมันก็จะดีกว่า เพราะเขาต้องใช้ตลอดเวลา อย่างเสื้อพลาสติกที่ใช้คลุมตัว ใช้แล้วก็ต้องทิ้ง วันนึงผมว่าเป็นร้อยๆ ชิ้น ผมก็พยายามจะแชร์บอกเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างนอก เขาก็โอเคที่จะรวบรวมไปหาซื้อ เอามาบริจาค
ณ ตอนนี้อยากให้สังคมตระหนักถึงความอันตรายของมันในระดับที่เราต้องดูแลตัวเองอย่างดี แล้วก็ไม่พาตัวเองไปในจุดที่เสี่ยง แล้วก็เชื่อฟังคำแนะนำทางการ วันนี้ก็ 700 กว่าแล้ว มันก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วผู้ป่วยก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาพอสมควร”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Sirapop Suksamran”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **