คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเมืองถูกลดทอนด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศ ขยะมูลฝอย ขณะที่พื้นที่สีเขียวกลายเป็นสิ่งหายาก ในฐานะศูนย์การค้าชั้นนำที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” จึงเดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม ผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งภายในองค์กรที่มีทีมพนักงานจิตอาสา MBK Spirit ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักปลอดภัย นำโดยสำนักงานเขตปทุมวัน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ ปริ๊นซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร หรือเจ้าชายผักแห่งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง จัดกิจกรรม MBK สร้าง...ฟาร์มสุขเพื่อชุมชน ชวนชาวชุมชนแฟลตการรถไฟ ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยสำหรับคนในชุมชนและต้นแบบในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบันพื้นที่ว่างในชุมชนแฟลตการรถไฟ ที่เคยโล่งได้ถูกพัฒนาเป็นสวนผักขนาดย่อมเต็มไปด้วยผักนานาประโยชน์กว่า 20 ชนิด เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม โหระพา กะเพรา มินต์ ผักชีลาว ถั่วพู ยี่หร่า มะเขือเทศสีดา พริก ผักปลัง แมงลัก ตะไคร้ ฯลฯ กระจายปลูกกลางแจ้งและในร่ม โดยขวดน้ำพลาสติก ชาม ยางรถยนต์ ขยะเหลือใช้ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาชนะปลูกต้นไม้ ติดตั้งค้างให้ไม้เลี้อยเป็นซุ้มตกแต่งสวยงาม
ศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลชุมชนในเขตปทุมวันทั้ง 12 ชุมชน และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนทุกไตรมาส เน้นเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะในชุมชน รวมถึงปัญหาด้านสุขอนามัย ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกัน เพราะหากมีขยะจำนวนมากก็จะนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพและอนามัย ทั้งนี้ ได้เน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเขตปทุมวัน สภาวัฒนธรรมเขตปทุมวัน ภาคประชาสังคม และนำพนักงานจิตอาสา MBK Spirit มาช่วยปลูกผักชนิดต่างๆ เพื่อให้ชุมชนในเขตปทุมวันเป็นสังคมที่น่าอยู่”
“ล่าสุดเราจึงจัดกิจกรรม MBK สร้าง...ฟาร์มสุขเพื่อชุมชน เป็นโครงการใหม่ที่คิดขึ้นมาสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคม ในปี 2560 ซึ่งได้จัดกิจกรรมเวิร์กชอป Start Green : DIY สวนผักแนวตั้ง ดัดแปลงวัสดุเหลือใช้เป็นกระถาง ปี 2561 นี้จึงต้องการต่อยอดความรู้ในการลดปริมาณและจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ โดยนำร่องโครงการนี้ที่ชุมชนแฟลตการรถไฟ (วัดดวงแข) ซึ่งหากชาวชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกผักก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและช่วยกันดูแล อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยสำหรับคนในชุมชน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงกล่าวได้ว่าเป็นอีกโมเดลในการสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชนในเขตเมืองและเป็นต้นแบบส่งต่อหรือนำไปใช้ในชุมชนอื่นๆ ในเขตปทุมวันต่อไป” ศิรฐากล่าวเพิ่มเติม
ผู้เชี่ยวชาญการปลูกผักในเมือง ปริ๊นซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก กล่าวว่า “การลงมือทำสวนผักด้วยตัวเองส่งผลต่อสภาพจิตใจ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ได้กินอาหารปลอดภัย ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชุมชนสะอาดขึ้น เพราะเศษใบไม้และขยะจำพวกเศษอาหารนำมาหมุนเวียนเป็นปุ๋ยได้ ผักที่ซื้อมาจากตลาดสามารถนำรากมาปลูกต่อได้ ทั้งนี้ กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างน้อยหรือประมาณ 5 ตร.ม. ต่อคน ดังนั้น พื้นที่ผักสวนครัวจึงเป็นเครื่องฟอกอากาศให้ชุมชนเมืองได้อีกด้วย”
ด้านภาคประชาสังคม เสาวรัตน์ ประดาห์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า “กิจกรรม MBK สร้าง...ฟาร์มสุขเพื่อชุมชน สะท้อนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับชาวบ้านในการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชน สร้างการเห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง การบริหารจัดการพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งที่ดินหายากและมีขนาดเล็ก แต่สามารถนำมาทำประโยชน์ในรูปแบบของแปลงผักสวนครัวได้”
วิทยา มาเทียม ประธานชุมชนแฟลตการรถไฟ (วัดดวงแข) กล่าวว่า “ชุมชนแฟลตการรถไฟเป็นอาคาร 2 ตึก มีประชากร 176 ครัวเรือน รวมผู้อยู่อาศัย 215 คน มีความสนใจจะทำแปลงปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เพราะส่วนใหญ่ทำอาหารกินเองและบางบ้านปลูกผักตามระเบียงห้องอยู่แล้ว ดังนั้น การเข้าร่วมกิจกรรม MBK สร้าง...ฟาร์มสุขเพื่อชุมชน ทำให้ชาวชุมชนได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญการปลูกผักในเมือง รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจากปกติที่ต้องซื้อผักจากตลาดและยังได้รับประทานผักปลอดภัยจากสารเคมี”
ชุดากรณ์ ทองหล่อ แม่บ้านวัย 52 ปี อาศัยในชุมชนแฟลตการรถไฟ กล่าวว่า “ชาวชุมชนต้องการทำแปลงปลูกผักสวนครัว แต่ยังขาดความรู้ในการปลูกผักที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงเป็นโอกาสที่ดีเมื่อเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดผักที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แดดจ้า ในร่ม หรือแนวตั้ง รวมทั้งการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ชุมชนมีพื้นที่สีเขียวสบายตาน่าดู ได้กินผักปลอดสาร การลงมือปลูกช่วยให้ชาวชุมชนได้ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิและสานสัมพันธ์ภายในชุมชน โดยแบ่งหน้าที่ช่วยกันดูแล วางแผนขยายพื้นที่ปลูกและมีการปลูกทดแทน ถ้าเหลือกินก็จะต่อยอดนำไปขายและนำรายได้มาซื้อเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อเนื่อง ถือเป็นกิจกรรมที่มอบความสุขให้แก่ทุกคนในชุมชน”