ประจวบคีรีขันธ์ - การระบาดของกาฬโรคในม้าเริ่มรุนแรง ยังพบม้าตายต่อเนื่อง พบลักลอบนำม้าป่วยตายมาทิ้งที่เขาแล้ง หัวหิน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ คาดตายมา 1-2 สัปดาห์ แถมยังมีม้าฟาร์มใหญ่ป่วยตายอีก 1 ตัว ทำให้ขณะนี้มีม้าหัวหินป่วยตาย 12 ตัวแล้ว
จากสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ กาฬโรคแอฟริกาในม้า ที่อำเภอหัวหิน เริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด พบม้าในฟาร์มเอกชนใหญ่ ตายเพิ่มอีก 1 ตัว และพบซากม้าที่เจ้าของนำมาทิ้งโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ อีก 1 ตัว ทำให้ล่าสุดตอนนี้มีม้าในอำเภอหัวหินตายแล้วอย่างน้อย 12 ตัว ขณะที่ปศุสัตว์ และเจ้าของม้าต่างเร่งฉีดพ่นยาชนิดพ่นบนตัวม้าเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรค
ล่าสุด วันนี้ (3 เม.ย.) ความคืบหน้ากรณีพบม้าป่วยตายในหมู่บ้านบ่อนไก่-เขาพิทักษ์ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณบ้านหนองพรานพุก ต.ทับใต้ อ.หัวหิน รวมทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งผลตรวจจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติยืนยันชัดเจนว่า เกิดจากจากโรคอุบัติใหม่ “กาฬโรคในม้า” หรือโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นโรคติดเชื้อในตระกูลม้า ลา ล่อ ม้าลาย เชื้อไวรัสอาร์เอ็นเอชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยทำให้ม้า ลา ล่อ ม้าลายมักแสดงอาการมีไข้สูง มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแล้วตายโดยฉับพลัน ขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรคนี้
นายสัตวแพทย์จามร ศักดินันท์ หน.กลุ่มสุขภาพสัตว์ สนง.ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รับแจ้งว่า มีผู้พบซากม้าตายในบริเวณเขาแล้ง หมู่ 1 ต.ทับใต้ อ.หัวหิน 1 ตัว จากการตรวจสอบสภาพเหลือแต่โครงกระดูก พบว่าน่าจะมีการลักลอบเคลื่อนย้ายม้าที่ป่วยตายมาจากจุดอื่นและนำมาทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า พบม้าป่วยตายเพิ่มอีก 1 ตัว ในคอกฟาร์มเลี้ยงม้าขนาดใหญ่ของเอกชนรายหนึ่ง ในอำเภอหัวหิน ซึ่งฟาร์มนี้มีม้ากว่า 90 ตัว เบื้องต้น พบอาการป่วยเหมือนกับม้าที่ตายก่อนหน้านี้ทุกตัว พร้อมกันนี้ปศุสัตว์อำเภอหัวหินได้สั่งให้ผู้ดูแลม้าแยกม้าตัวอื่นๆ ที่อยู่ในคอกเดียวกันออกมา และเร่งพ่นยาฆ่าเชื้อกันแมลงดูดเลือด
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่เร่งให้เจ้าของม้าทำมุ้งคลุมม้าโดยเร่งด่วน เนื่องจากประเมินว่า การระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า เริ่มส่งสัญญาณรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังไม่มียารักษาที่ชัดเจน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มอบยาชนิดฉีดพ่นบนตัวม้าให้แก่เจ้าของม้าฉีดพ่นซึ่งไม่เป็นอันตรายกับม้า ดูแลม้าด้วยตนเอง ซึ่งจะสะดวกและครอบคลุมมากกว่า ม้าไม่ตกใจเหมือนกับเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นให้ ซึ่งเจ้าของม้าบางคนก็ได้ปรับใช้วิธีเป็นการฉีดน้ำยาลงบนผ้านำไปเช็ดตามตัวม้า ซึ่งหลังจากใช้ยาชนิดนี้ไปพบว่า แมลงจะไม่เข้าใกล้ตัวม้า
ในส่วนของทีมสอบสวนโรค และทีมค้นหาสัตว์ป่วย ยังคงลงพื้นที่แบ่งทีมทำงานต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ทั้งการพ่นฆ่าเชื้อตามคอกม้า และบริเวณจุดที่มีภาชนะใส่อาหาร และบริเวณที่มีมูลม้า ซึ่งเป็นแหล่งพาหะนำโรค โดยหลังจากการพ่นไปแล้ว ก็จะต้องย้อนกลับมาพ่นใหม่อีกครั้งอีก 3 วันต่อไป เบื้องต้นยังไม่พบข้อมูลต้องสงสัย หรือความเชื่อมโยงการเคลื่อนย้ายม้าจากปากช่อง ชลบุรี และหัวหิน ทำให้ยังต้องทำงานด้านการสอบสวนต้นตอที่มาของโรคต่อไป