อุดรธานี - กองบิน 23 อุดรธานีส่งเครื่องบิน “อัลฟ่าเจ็ต” ร่วมบินปฏิบัติการทำฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ลานจอดอากาศยาน กองบิน 23 อุดรธานี นาวาอากาศเอก ชนาวีร์ กลิ่นมาลี ผู้บังคับการกองบิน 23 เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ พร้อมคล้องพวงมาลัยและพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่นักบินและนายทหารที่จะไปปฏิบัติการที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่
มี นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหารประจำการ แขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน
นาวาอากาศโท นิโรธ จำปาเงิน ผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23 กล่าวว่า กองบิน 23 ได้จัดเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ต พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงตามโครงการในพระราชดำริ ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ของน้ำในเขื่อน และสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่การเกษตร ในการปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานให้ทราบว่าผลการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงบรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้เป็นอย่างดี
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2563 นี้ได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องบินของกองทัพอากาศ พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ร่วมปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่การเกษตร ซึ่งหัวหน้าคณะทำงานส่วนฝนหลวงและดับไฟป่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศได้อนุมัติให้กองบิน 23 จัดเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 อัลฟ่าเจ็ต จำนวน 2 เครื่อง พร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง
โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจ ณ ฐานปฏิบัติการ กองบิน 23 อุดรธานี และฐานปฏิบัติการกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นาวาอากาศเอก ชนาวีร์ กลิ่นมาลี ผู้บังคับการกองบิน 23 กล่าวว่า การปฏิบัติการฝนหลวงได้กระทำอย่างต่อเนื่อง และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบินแบบต่างๆ ปฏิบัติการ อีกทั้งร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งวิจัยการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ และวิจัยการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพลุสารดูดความชื้น เสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น
ในปี 2563 สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ และสภาวะโลกร้อน ซึ่งกองบิน 23 ก็จัดเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ต พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในโครงการพระราชดำริฝนหลวง ก็ขอให้ทุกคนปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ