xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.3 กดปุ่มกลางน้ำยมแห้งขอดเหลือแต่ท้องทราย ลุยแก้แล้งสาหัสรอบ 40 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร - แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมผู้ว่าฯ พิจิตรนำทุกหน่วยยืนกลางน้ำยมที่แห้งขอดเหลือแต่ทราย หารือ-สั่งการเดินหน้าแก้ภัยแล้งพิจิตรที่รุนแรงสาหัสรอบ 40 ปี ยันน้ำดื่มน้ำใช้มีแต่ไม่มีน้ำให้การเกษตร มะม่วง มะปราง มะยงชิดติดผลแค่ 20%


วันนี้ (19 ม.ค.) พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ลงพื้นที่หารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดพิจิตรที่รุนแรงในรอบ 40 ปี ร่วมกับนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าฯ พิจิตร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานชลประทานที่ 3, ปภ.เขต 8-9, สนง.ทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 7, เกษตรจังหวัดพิจิตร ฯลฯ บริเวณกลางแม่น้ำยม หน้าวัดท่าบัวทอง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ที่มีสภาพแห้งขอด

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีตั้งกองน้ำแห่งชาติ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท กระจายให้จังหวัดต่างๆ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้มีงบในการดำเนินการช่วยเหลือราษฎรแบบเร่งด่วนและเฉพาะหน้า


พร้อมทั้งกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคเหนือว่ามีแค่เพียง 43% ใช้งานได้เพียง 23% เท่านั้น และคาดการณ์ว่าจะแล้งเช่นนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 จึงจะมีฝนตกลงมา รวมถึงยังบอกอีกว่าในวันที่ 22 มกราคม 2563 นี้ ทหารช่าง ทหารพัฒนาก็จะเริ่มลงพื้นที่อย่างเป็นทางการกระจายความช่วยเหลือเร่งด่วน นั่นคือการไปเจาะหาบ่อน้ำบาดาลให้ราษฎรได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

ด้านนายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก ให้สัมภาษณ์ว่า ตามแผนของกรมชลประทานจะมีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลุ่มน้ำยมเขต จ.พิจิตร 3 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำบ้านท่าแห ที่ อ.สามง่าม, ประตูระบายน้ำบ้านวังจิก, ประตูระบายน้ำบ้านโพธิ์ประทับช้าง


ขณะนี้ได้งบประมาณมาแล้ว 2 แห่ง คือ ปตร.ท่าแห, ปตร.วังจิก เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนฝายยางบ้านจระเข้ผอม ต.รังนก ที่ชำรุดเสียหาย ก็ได้งบประมาณมาแล้ว 70 ล้านบาทเศษ เพื่อซื้อตัวฝายยางใหม่มาให้ใช้การได้ในปีงบประมาณ 2563 นี้

ขณะที่นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวยืนยันว่า ชาวพิจิตรจะได้รับการดูแลน้ำดื่ม-น้ำใช้ อย่างทั่วถึงรับรองได้ว่าไม่ขาดแคลน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรคงต้องบอกตามตรงว่าไม่สามารถจะหาน้ำมาช่วยชาวนา-ชาวสวนได้ เกษตรกรต้องเจาะบ่อน้ำบาดาลมาใช้เอง ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลที่เกษตรกรขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำขึ้นมาใช้แล้วประมาณ 4 พันกว่าราย ซึ่งถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเกษตรได้ระดับหนึ่ง

ส่วนพื้นที่ไม้ผลแถบ ต.วังทับไทร ปีนี้วิกฤตแล้ง มะม่วง มะปราง มะยงชิด ออกดอกแต่ไม่ติดลูกติดผล คาดว่าจะได้ผลผลิตแค่เพียง 10-20% เท่านั้น






กำลังโหลดความคิดเห็น