MGR online - รมว.ยธ. เปิดการประชุมโครงการชุมชนเข้มแข็ง จ.พิจิตร พื้นที่นำร่อง จำนวน 936 หมู่บ้าน สกัดกั้นยาเสพติดลำเลียงจากภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีจ.ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ เป็นด่านสกัดต่อไป
วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ณ อาคารคอนเวนชั่นฮอลล์ ห้างแฮปปี้พลาซ่า อ.เมือง จ.พิจิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแกนนำระดับตำบล พื้นที่จังหว้ดพิจิตร ภายใต้โครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้านชุมชน จ.ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ เพื่อให้เกิดแนวป้องกันและเฝ้าระวังยาเสพติด โดยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้านชุมชน โดยมี นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดพิจิตร ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมด้วยแกนนำหมู่บ้านชุมชน จังหวัดพิจิตร จำนวน 936 หมู่บ้าน กว่า 1,000 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดโครงการนี้เป็นแนวทางการป้องกันปัญหายาเสพติด ที่ปัจจุบันยาเสพติดถูกผลิตโดยเครื่องจักร และมีแนวโน้มที่จะเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางแนวชายแดนทางภาคเหนือมากขึ้น ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทจึงทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นกำแพงป้องกัน สกัดการลำเลียงยาเสพติดไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยมีจังหวัดที่เป็นกำแพงคือ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์ โดยจังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดนำร่อง โดยมีการอบรมตัวแทนจากหมู่บ้าน 936 หมู่บ้านชุมชน จากนั้นจะคัดกรองว่า บ้านไหนในหมู่บ้าน ไม่มีการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราจะมอบธงสีขาวให้เป็นสัญลักษณ์ แต่หากบ้านไหนมีผู้เสพหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะมีมาตรการลงโทษทางสังคม เช่น ไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ ทั้งงานแต่ง งานศพ งานบวช รวมทั้งกิจกรรมต่างๆในหมู่บ้าน และห้ามกู้เงินกองทุนหมู่บ้านด้วย จนกว่าบ้านนั้นจะให้ความร่วมมือที่ดีหันมาร่วมมือแก้ปัญหายาเสพติด เพื่อให้ยาเสพติดในหมู่บ้านนั้นหมดไป
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เราคิดว่าการสร้างกำแพงนี้ขึ้นมาจะสามารถสกัดกั้นยาเสพติดไว้ได้ เพราะเส้นทางการขนส่งนั้นจะมาติดกำแพงประชาชนและหมู่บ้านเหล่านี้ วันนี้เราเห็นว่านักโทษในเรือนจำมีปัญหาแออัดล้นคุก ส่วนหนึ่งเป็นนักโทษยาเสพติดมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อเราสร้างโครงการนี้จะทำให้ปัญหานักโทษที่เกี่ยวกับยาเสพติดลดลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่ยังมีกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ดำเนินการโดยสำนักงานการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันยาเสพติดอยู่แล้วด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ดีในระดับหนึ่ง
"การจัดตั้งโครงการนี้ เป็นแนวทางการป้องกัน ส่วนปฏิบัติการ 1386 เป็นแนวทางการปราบปราม ซึ่งทั้ง 2 โครงการต้องเดินควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการ 1511 ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง วันนี้เราต้องเน้นทั้งการป้องกัน การปราบปราม และบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยา เป็นการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ผมเชื่อว่าหากเราทำงานสอดประสานกันได้ลงตัวแล้ว จะให้ให้ปัญหายาเสพติดลดลงไปได้อย่างมาก ทั้งนี้เราต้องไม่กลัวที่จะทำ เมื่อเราเริ่มจากหมู่บ้านชุมชน เป็นฐานที่เข้มแข็งแล้ว การป้องกันและปราบปรามจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน" นายสมศักดิ์ กล่าว