วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมสยาม ริเวอร์ รีสอร์ท จังหวัดชัยภูมิ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และมีผู้แทนส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม
ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ศรีชะเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นางจิรารัตน์ ชาญยุทธ ผู้อำนวยการสำนักการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดชัยภูมิ นายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดชัยภูมิ นายธนกฤต สืบสกุลอุทัย รองอัยการจังหวัดชัยภูมิ ร.ต.อ.ปวริศร เฉลิมแสน อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ ภาครัฐ และภาคประชาชน เข้าร่วม
โดยในวันนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนา การป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ ประกอบด้วย 1. นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม 2. นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 3. นางสาวรุ่งทิพย์ จินดาพล ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 4. พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ 5. ดร.กฤษฎิ์นิธิ อุดมศักดิ์พศิน ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ
สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากประชาชน กรณีถูกหลอกลวงเป็นเหตุให้สูญเสียทรัพย์สินจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่จำนวนมาก ประกอบกับประชาชนขอความสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย
อนึ่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จึงมอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปรามและช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย การกำหนดองค์ประกอบการกระทำในลักษณะแชร์ลูกโซ่มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือแชร์ลูกโซ่ และการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันมีลักษณะแชร์ลูกโซ่และบทกำหนดโทษ
อีกทั้งในการจัดทำร่างกฎหมายนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการส่งเสริมป้องกัน คุ้มครอง ปราบปราม และช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงในความผิดลักษณะแชร์ลูกโซ่ อีกทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 5 พื้นที่ๆ ละ 100 คน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิจิตร จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสงขลา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500 คน
ทั้งนี้ ในเวทีวิทยากรได้อธิบายถึงการลงทุนลักษณะแชร์ลูกโซ่ ว่า เมื่อลงทุนแล้ว จะส่งผลให้ผู้เสียหายได้รับผลกระทบ อย่างวงกว้างและบางรายจะได้เงินคืนต้องใช้ระยะเวลาถึง 30 ปี และเป็นยอดเงินที่น้อยมาก เช่น ลงทุน 180,000 บาท แต่ได้รับเงินคืนเพียงแค่ 3,200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดเงินที่มีจำนวนน้อยมาก โดยในระหว่างนั้นได้มีผู้เสียหายจำนวน 2 คน ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองประสบ อาทิ การชักชวนให้ลงทุนทองคำโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง พร้อมให้ชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนแบ่งกำไรให้ และสุดท้ายไม่ได้ผลตอบแทน รวมถึงอยากให้เตือนประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่กระทำการเกี่ยวกับการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงอีก ซึ่งจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และปลูกฝังประชาชนให้ไม่เชื่อใครง่ายๆ รวมทั้งปลูกฝังให้ประชาชนมีระเบียบวินัย ไม่คิดคดโกง และให้รู้ถึงผลของการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นทางกฎหมาย เป็นต้น
ช่วงท้าย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในการออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วันนี้ที่เรามาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากมีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการเหล่านี้จำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดชัยภูมิที่เข้ามาช่วยกันดำเนินการเรื่องนี้ เพราะท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านให้การแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องแชร์ลูกโซ่นั้นก็เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่ เป็นคดีที่เกิดผลกระทบอย่างวงกว้างดังนั้น ต้องตั้งสำนักงานเพื่อให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของข้อมูล
ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ต้องมีกฎหมาย ต้องมีสำนักงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อคุ้มครองประชาชนที่สุจริต ตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีสำนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นที่มาที่ให้พ่อแม่พี่น้องได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหา ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้มีเจตนาที่นำภาษีประชาชนมาช่วยเหลือ แต่เป็นเงินของผู้เสียหายที่ได้จากการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดมาช่วยเหลือ หากลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้ จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเสมอภาคทุกชนชั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่เน้นย้ำ ให้สร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกชนชั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
ส่วนคดี ลันลาเบล นายสามารถ ได้กล่าวว่า คดีลันลาเบล ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ผมลงไปดูแลช่วยเหลือ ตอนนี้คณะอนุกรรมการมีมติให้ช่วยเหลือแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกันพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา และคดีน้องลันลาเบล รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท
วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ชั้น 2 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร 2
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 นางสาวธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ (ลันลาเบล) ได้รับการว่าจ้างงานให้เอนเตอร์เทน บริเวณหมู่บ้านพฤกษา 3 บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และต่อมาพบเสียชีวิตบริเวณล็อบบี้คอนโดแห่งหนึ่งใกล้สถานีรถไฟฟ้าตลาดพูล แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคดีดังที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร 2 และได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา คดี นางสาวธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ (ลัลลาเบล) แก่ทายาท คือ นางศุภมาศ นรพันธ์พิพัฒน์ (มารดา) ดังนี้ 1) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวน 50,000 บาท 2) ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท และ 3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 40,000 บาท รวมทั้งสิ้น จำนวน 110,000 บาท
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ไม่เพียงแต่อนุมัติให้ความช่วยเหลือคดี นางสาวธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ (ลันลาเบล) ยังได้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาทั่วไป รวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นผู้เสียหาย 21 ราย จำเลย 5 ราย จ่ายเงินค่าตอบแทนทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 667,979 บาท ทั้งนี้ หากประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและแพะในคดีอาญา มีสิทธิขอรับการช่วยเหลือเยียวยาในฐานะที่ตกเป็นผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาได้ หรือโทรศัพท์ติดต่อประสานงาน ได้ที่สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77
ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำให้กระทรวงยุติธรรมช่วยอำนวยความเป็นธรรม ความยุติธรรมให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เน้นให้ทำยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้กับประชาชน ประชาชนต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม และ เท่าเทียมโดยจะมีการนัดครอบครัวน้องลัลลาเบลมารับเงินช่วยเหลือที่กระทรวงยุติธรรม วันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ที่ชั้น 2 กระทรวงยุติธรรมเวลา 13.00 น. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะเป็นผู้มอบด้วยตนเอง