กาญจนบุรี - วิกฤต!! ฝุ่น PM 2.5 ‘กาญจนบุรี’ พุ่งเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 163 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร พบหิมะดำปลิวเกลื่อน ผลพวงจากการ ‘เผาอ้อย’
วันนี้ (17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มควันดำและเศษขี้เถ้าลอยคละคลุ้งไปทั่วบริเวณพื้นที่หมู่ 4 ตำบลอุโลกสี่หมื่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการจุดไฟเผาไร่อ้อย กลายเป็นหิมะสีดำปกคลุมไปทั่วพื้นที่ สร้างความสกปรกให้แก่บ้านเรือน และยังสร้างมลพิษให้แก่ชาวบ้านที่ต้องทนเดือดร้อนกับอาการแสบตา แสบจมูก และขี้เถ้ายังลอยมาตกอยู่ในบริเวณบ้านเรือน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างหนักในช่วงนี้
โดย นายกรณรงค์ แสงมาลา ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า “ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการเผาไร่อ้อยเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่มีทั้งคนที่ตั้งใจจุดไฟเผาเพื่อให้ง่ายในการตัดอ้อย แต่บางส่วนก็ถูกลักลอบเผาโดยผู้ไม่หวังดี แม้ทางจังหวัดจะออกนโยบายห้ามเผาไร่อ้อยและเอาผิดกับผู้ที่เผาแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบเผาเช่นนี้อยู่เป็นประจำ”
ขณะที่ในโลกออนไลน์ได้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาอ้อย นำภาพมาโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กกลุ่มคนเมืองกาญจน์ 2 เป็นภาพของเศษขี้เถ้าที่ลอยมาตกตามบ้านเรือน และรถที่จอดอยู่ ในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย และพื้นที่อำเภอต่างๆ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นว่า บริเวณนี้เรียกว่าเป็นขาประจำ อยู่ห่างจากสถานีตำรวจไม่มาก ซึ่งการเผาไร่อ้อยตรงนั้นทำให้ผ้าที่ชาวบ้านตากไว้ดำหมดยกตะกร้า คนแถวนี้เคยชินกับการเผาอ้อยแล้ว แต่บางคนบอกว่าไม่ทน ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ พร้อมทิ้งท้ายว่า เผาอ้อยเดือดร้อนมาก
บางคนบอกว่า เพิ่งไปเที่ยวที่กาญจนบุรี ไปนั่งดื่มกาแฟแถววัดถ้ำเสือ อ.ท่าม่วง ปรากฏว่า มีควันดำลอยมาเต็มไปหมด จนต้องรีบขับรถหนี และเห็นว่าไร่อ้อยอีกแปลงหนึ่งก็กำลังจุดไฟเผาพอดี
ส่วนอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรีก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ขณะที่บางคนบอกว่า อีกประเทศหนึ่งพยายามจะดับไฟ แต่บ้านเรากลับมีคนเผานาข้าว และไร่อ้อยจนเกิดปัญหา
นอกจากนี้ บางคนสุดทนกับปัญหา โดยได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการเผาอ้อยมารวมตัวกันไปยื่นหนังสือต่อจังหวัดเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน
สำหรับคุณภาพอากาศค่ามาตรฐาน PM 2.5 ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ (ลบ.) เมตร แต่ปรากฏว่า การตรวจวัดคุณภาพอากาศจากเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากเครื่องตรวจวัดที่ ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่ อ.เมืองกาญจนบุรี ล่าสุดตรวจวัดค่า PM 2.5 สูงถึง 163 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร
ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นต้นแบบการจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร รวมถึงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมีกรอบแนวคิดใช้หลักการเชิงรุกที่เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า
นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่และมาตรการควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คุณภาพอากาศในจังหวัดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น จำนวนจุดความร้อนลดลงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ดังนี้
1.กำหนดให้พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบเขตที่ดินประเภทชุมชน (พื้นที่สีชมพู) ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ.2560 เป็นเขตควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สำหรับอำเภอห้วยกระเจา กำหนดให้รัศมี 5 กิโลเมตร รอบเขตเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เป็นเขตควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
2.กำหนดให้พื้นที่เขตรัศมี 10 กิโลเมตร โดยวัดจากจุดศูนย์กลางที่ตั้งบริษัท โรงงานน้ำตาล นิวกรุงไทย จำกัด อำเภอบ่อพลอย และบริษัทน้ำตาลราชบุรี จำกัด (โรงงานน้ำตาลเมืองกาญจน์) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
3.กำหนดให้พื้นที่ในเขตรัศมี 20 กิโลเมตร โดยวัดจากจุดศูนย์กลางที่ตั้งบริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด อำเภอท่ามะกา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยของ 6 โรงงานน้ำตาล ได้แก่ บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด เป็นเขตควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ส่วนมาตรการควบคุมผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สำหรับพื้นที่เขตควบคุม ขอให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยงดการเผาอ้อยอย่างเด็ดขาด และเตรียมความพร้อมในการเตรียมแปลงปลูกอ้อยเพื่อรองรับเครื่องจักรสำหรับเก็บเกี่ยวอ้อย
สำหรับพื้นที่นอกเขตควบคุม ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้งดเผาอ้อย เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละออง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องรื้อตอเพื่อปลูกอ้อยใหม่ ให้เตรียมแปลงปลูกอ้อยใหม่ เพื่อรองรับกับเครื่องจักรเก็บเกี่ยวอ้อย
และในฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย ปี 2562/2563 ให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 8 แห่ง ดำเนินการจัดทำแผนการตัดอ้อยสด แผนงานในการสนับสนุนรถตัดอ้อย รวมถึงสนับสนุนวิธีการตัดอ้อยสดทุกรูปแบบ ภายในรัศมี 10 และ 20 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการตรวจติดตามให้เป็นไปตามแผนงานที่ทางโรงงานน้ำตาลเสนอไว้
ทั้งนี้ มอบหมายให้ส่วนราชการทุกแห่ง อำเภอทุกอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมเฝ้าระวัง และป้องกันเหตุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และขอให้หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ร่วมสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยสามารถแจ้งเหตุและร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์สายด่วน 1567 หรือ 0-3453-3778 สำหรับในระดับอำเภอแจ้งได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกอำเภอ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในหลายอำเภอ พุ่งสูงขึ้นแบบพรวดพราดในครั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการเผาไร่อ้อย ซึ่งไม่เพียงทำให้หมอกควันฟุ้งกระจายเท่านั้น ยังทำให้เกิดฝุ่นละอองโดยเฉพาะหิมะดำปลิวลอยกระจายไปตามลม กระทั่งไปตกใส่บ้านเรือนราษฎรและในเขตชุมชนต่างๆ จนส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน มีการร้องเรียนแจ้งให้ทางอำเภอและจังหวัดกาญจนบุรีเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรแล้ว ปรากฏว่า ยังมีเกษตรกรผลัดเปลี่ยนกันเผาไร่อ้อยกันต่อเนื่องทุกวันอีกด้วย