กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมดึงน้ำขุมเหมืองเก่า น้ำทิ้งโรงงานที่ผ่านค่ามาตรฐานตามกฎหมาย ผันเข้าระบบกว่า 169 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาผลกระทบช่วงวิกฤตภัยแล้ง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงาน และแหล่งน้ำในขุมเหมืองที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมในช่วงวิกฤตภัยแล้งปี 2563 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร และภาคส่วนอื่นๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ จากการสำรวจล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 169 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ที่พร้อมผันน้ำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ และกระทรวงฯ จะจัดส่งข้อมูลไปยังศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดึงน้ำข้างต้นเพื่อใช้แก้วิกฤตภัยแล้งให้ผ่านพ้นไป
“น้ำในขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศ เบื้องต้นพบว่าในอดีตได้มีการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา ฯลฯ ซึ่งในปีนี้มีแหล่งน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ จำนวน 36 แห่ง รวม 105 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 166,019,100 ลบ.ม. ที่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ และปัจจุบันได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์แล้วถึง 50 บ่อเหมือง คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกว่า 65,392,000 ลบ.ม. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำขุมเหมือง และได้ประสานจัดส่งข้อมูลปริมาณน้ำขุมเหมืองในเขตพื้นที่ต่างๆ ให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณานำน้ำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งจัดสรรให้ทั่วถึงซึ่งจะเน้นในพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างหนักก่อน
สำหรับการนำน้ำทิ้งจากโรงงานไปใช้ประโยชน์จะดำเนินการได้ภายหลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม นำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าประกาศฯ ได้ภายในเดือนมกราคมนี้ โดยผมได้รับรายงานการสำรวจของ สอจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีโรงงานประเภทแปรรูปการเกษตรที่มีน้ำทิ้งจำนวนทั้งสิ้น 3,103 โรง มีปริมาณน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดให้มีค่ามาตรฐานตามกฎหมายและพร้อมจะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม จำนวนรวม 3,772,417 ลบ.ม. ซึ่งกระทรวงฯ คาดการณ์ในเบื้องต้นว่าน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบโรงงานได้จำนวนกว่า 1,500 ราย ซึ่งถ้ารวมกับปริมาณน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ที่มีปริมาณน้ำ 166,019,100 ลบ.ม. จะมีปริมาณน้ำรวมกว่า 169 ล้าน ลบ.ม.” นายกอบชัยกล่าว
ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งอย่างชัดเจน เนื่องจากโรงงานที่ใช้น้ำในการผลิตในปริมาณมากส่วนใหญ่จะมีบ่อกักเก็บน้ำทิ้งไว้ใช้ประโยชน์ และมีการนำน้ำกลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้ง ส่วนโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้ง จึงมั่นใจว่าโรงงานจะไม่ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคส่วนอื่น แต่หากพบผู้ประกอบการรายใดที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ หรือน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ กระทรวงฯ จะออกมาตรการช่วยเหลือให้ต่อไป
ข้อมูลแหล่งน้ำขุมเหมืองของ กพร.ในพื้นที่ภาคเหนือ มี 13 บ่อเหมืองในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน ปริมาณน้ำรวม 129 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 17 บ่อเหมืองในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานึ ปริมาณน้ำรวม 11 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ปริมาณน้ำรวม 1.7 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มี 4 บ่อเหมืองในจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ปริมาณน้ำรวม 8 แสน ลบ.ม. ภาคตะวันตก มี 5 บ่อเหมืองในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ปริมาณน้ำรวม 8.7 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ มี 6 บ่อเหมืองในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา และภูเก็ต ปริมาณน้ำรวม 14 ล้าน ลบ.ม.