“สุริยะ” เตรียมพร้อมรับมือกรณีวิกฤตภัยแล้ง มอบกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหนังสือถึงโรงงานทั่วประเทศประหยัดการใช้น้ำและสำรวจปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงาน 7,671 แห่งเพื่อเตรียมพร้อมดึงมาช่วยเหลือภาคเกษตรหากเกิดภัยแล้งรุนแรง ความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรหากเกิดวิกฤตภัยแล้งหลังปี 2559 ประสบความสำเร็จดึงน้ำทิ้งช่วยเกษตรกรกว่า 4,000 ไร่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง พร้อมกับให้เร่งสำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงานที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้
“อยากฝากถึงผู้ประกอบการโรงงานว่าช่วงนี้กำลังเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ และขอให้ กรอ.กำชับโรงงานในการนำนโยบาย 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า” นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้งจำนวน 772,560 ลบ.ม. (ไม่เกิน 10 ลบ.ม.ต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้งจำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง โดยน้ำทิ้งที่นำมาดำเนินการได้จะเป็นโรงงาน 12 ประเภท เช่น กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้ เป็นต้น
“มีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าจะเกิดภัยแล้งขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมพร้อมในเรื่องน้ำทิ้งที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในปี 59 โดยโรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้มอบอุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่” นายสุริยะกล่าว