xs
xsm
sm
md
lg

PM2.5 เมืองกาญจน์พุ่ง ชาวกาญจน์ติงภาครัฐนิ่งเฉย ไม่สนสุขภาพประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ผวจ.สั่ง จนท.ศูนย์ดำรงธรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มกล้วยไม้ หลังได้รับความเสียหายจากการเผาไร่อ้อย คาดเสียหายกว่า 1.6 ล้านบาท ขณะที่ฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงถึง 103 มคก./ลบ.ม. ด้านชาวกาญจน์รุมจวกหนัก ภาครัฐนิ่งเฉย ไม่สนสุขภาพประชาชน


วันนี้ (30 ม.ค.) นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ในพื้นที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ร้องเรียนว่า ฟาร์มกล้วยไม้ของตนเองได้รับความเสียหายจากการเผาไร่อ้อยของพื้นที่ข้างเคียง

โดยเปลวเพลิงได้ลุกลามไหม้เข้ามาในฟาร์มของตนเอง ทำให้กล้วยไม้ที่กำลังออกดอก รวมทั้งท่อพีวีซีสำหรับสปริงเกอร์ หลังคาสแลนได้รับความเสียหาย คาดมูลค่าประมาณ 1,638,480 บาท โดยเบื้องต้น เจ้าของฟาร์มได้เข้าแจ้งความที่ สภ.พนมทวน ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรีจะได้ประสานตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเร่งติดตามคดีดังกล่าวอย่างเร่งด่วนต่อไป

ทั้งนี้ ตามกฎหมายหากผู้ใดกระทำผิด โดยทำให้เกิดเพลิงไหม้ทั้งวัตถุใดแม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จะมีโทษทั้งจำและปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณ สถานีอุตุนิยมวิทยากาญจนบุรี ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2563 มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มาต่อเนื่อง โดยพบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 วันนี้มีค่าสูงถึง 103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนคุณภาพอากาศ วัดได้ 213 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับสีแดงเช่นกัน ซึ่งในช่วงเช้า คุณภาพอากาศพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับสีม่วง วัดได้ 348 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

โดยจะเห็นได้จากหมอกควันไฟสีขาวหม่นปกคลุมไปทั่วบริเวณ และหนาแน่นตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือค่า PM 2.5 ปกคลุมจนขาวโพลนไปทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชตอซังข้าว และเผาป่าในหลายพื้นที่ โดยจุดที่มีการเผาส่วนใหญ่จะปรากฏเปลวไฟให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดหมอกควันไฟและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานลอยสะสมอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก และมีแนวโน้มวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่จังหวัดกาญจนบุรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งให้ประชาชนงดการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาตอซังข้าว เผาเศษวัสดุทางการเกษตร และเผาขยะมูลฝอย ไม่ใช้ยานพาหนะที่มีควันดำ และให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่เป็นผล

สำหรับคุณภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยภาพรวมยังคงเกินค่ามาตรฐาน โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ และบางแห่งอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี พบคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันมานานหลายสัปดาห์

ขณะเดียวกัน ประชาชนได้ร้องเรียนแจ้งให้ทางอำเภอและจังหวัดกาญจนบุรีเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งใช้ช่องทางโซเชียลเรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอยากให้ภาครัฐจริงจัง เข้มแข็งกับการจับปรับผู้กระทำผิด (เผาป่า เผาอ้อย) มากกว่านี้ เพราะปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปีนี้ดูเหมือนภาครัฐจะไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย หากเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกโรงงานน้ำตาลงดรับซื้ออ้อยที่เผาไฟ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก และยังระบุด้วยว่า หากไม่โทษว่าฝุ่นพิษเกิดจากการเผาอ้อยแล้วจะโทษอะไร เผานาข้าวคงไม่ใช่ รถติดก็ไม่ใช่แน่ ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีจะวิกฤตทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูตัดอ้อย

และยังปรากฏผลกระทบจากการเผาอ้อยให้เห็นจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านเรือนของประชาชน ในท้องที่หมู่ 5 ต.อุโลกสี่หมื่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี รวม 2 หลัง ส่งผลให้บ้านได้รับความเสียหายทั้งหลัง รวมทั้งทรัพย์สินมีค่าก็ถูกเผาวอดไปกับกองเพลิงทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งสาเหตุจากการจุดไฟเผาไร่อ้อยของเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ติดกัน โดยประชาชนเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว ยังคงปรากฏว่ายังมีเกษตรกรผลัดเปลี่ยนกันเผาไร่อ้อยกันต่อเนื่องทุกวัน โดยไม่สนใจคำสั่งหรือเกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด








กำลังโหลดความคิดเห็น