แพร่ – ต้นมกราฯ63 นี้ชาวสูงเม่นทุกภาคส่วน เตรียมจัดงานบุญใหญ่ “ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ปลุกกระแสการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ร่วมทำความสะอาดคัมภีร์-ตำราพับสาครั้งใหญ่
พระครูปัญญาสารนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น จ.แพร่ พร้อมด้วยนายพยุงศักดิ์ พลลุน นายอำเภอสูงเม่น , นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานแพร่-อุตรดิตถ์ ,นายชณภพ ไกรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงานประเพณี “ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ประจำปี พ.ศ. 2563 ระหว่าง 7-9 ม.ค.นี้ที่กาดม่วนใจ หน้าที่ว่าการอำเภอสูงเม่น
โดยงานนี้ ชาวสูงเม่นจะร่วมกันตั้งขบวนสักการะคัมภีร์และระลึกถึงครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร อดีตเจ้าอาวาสฯ ผู้ที่ทำงานการศึกษารอบด้านในอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง นำความรู้ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ภาษาล้านนา ทั้งด้านพุทธศาสนา ความเป็นมาประวัติเมืองเก่าในล้านนา-ล้านช้าง ตำรายาสมุนไพร ความเชื่อ ประเพณีโบราณ และบันทึกประวัติความเป็นมาของผู้คนในอดีต มาสะสมไว้ในวัดสูงเม่น จนมีคัมภีร์ธัมม์ล้านนามากที่สุดในประเทศไทย
จากนั้นจะร่วมกันนำคัมภีร์ธัมม์ที่มีอยู่ออกมาทำความสะอาด-ตากแดด ป้องกันเชื้อราทำลายตัวอักษรที่จารึกไว้ เป็นการอนุรักษ์คัมภีร์ไม่ให้ถูกทำลายโดยธรรมชาติ
พร้อมทั้งผนวกเอาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเข้าด้วยกัน คือการตานข้าวใหม่ ที่ชาวนานำข้าวใหม่ออกมาถวายพระ และกิจกรรมหิงไฟพระเจ้า ที่เป็นประเพณีท้องถิ่นที่ศรัทธาวัดจะร่วมกันสุมไฟไล่ความหนาวเย็นให้กับพระสงฆ์ที่ต้องเผชิญความหนาวเย็นในช่วงเข้าสู่เทศกาลปีใหม่
เทศกาลตากธัมม์ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาชุมชนเจริญขึ้นทำให้ลดความสำคัญลงไป จนไม่มีใครให้ความสนใจคัมภีร์ธัมม์เหล่านี้ กระทั่งปี 2550 วัดสูงเม่น ได้สืบสานประวัติความเป็นมาของงานตากธัมม์จากวัดในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่ยังมีประเพณีดังกล่าวปฏิบัติอยู่ จนฟื้นฟูเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญขึ้นมาจนปัจจุบัน
ซึ่งในปีนี้ นอกจากชุมชนต่างๆ วัดสูงเม่น เทศบาลตำบลสูงเม่นแล้ว ยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมส่งเสริมงานประเพณีตากธัมม์ ให้เป็นงานระดับจังหวัด เพื่อดึงดูนักท่องเที่ยวให้มาร่วมแสวงบุญด้วยการอนุรักษ์คัมภีร์พับสา และคัมภีร์ใบลานภาษาล้านนาและภาษาบาลี
นายชณภพ ไกรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น กล่าวว่าขณะนี้มีมากกว่า 25 องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่สนใจเข้ามาร่วมงาน รวมทั้งพุทธศาสนิกชนหลายจังหวัด ก็ประสานแจ้งมาว่าจะเดินทางมาร่วมงานด้วย ทำให้ประเพณีที่ถูกฟื้นฟูมีชีวิตขึ้นมาและสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่เป็นอย่างดี