พิษณุโลก - คืบหน้ารื้อตำหนักก่อทัศนอุจาดบัง “ศาลพระองค์ดำ” พบแนวกำแพงพระราชวังจันทน์เพิ่ม ด้านปราชญ์ท้องถิ่น แนะกรมศิลป์ถือโอกาสบูรณะศาลสมเด็จฯ ตามแบบดั้งเดิมทุกตารางนิ้ว ระบุยังไม่จบงานรับเหมากระเบื้องร้าวแล้ว
ความคืบหน้ากรณีกรมศิลปากรดำเนินการรื้อถอนหลังคาอาคารขนาดใหญ่ที่เคยสร้างบดบังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณเขตโบราณสถาน พระราชวังจันทน์ อ.เมืองพิษณุโลก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง พร้อมก่อสร้างอาคารใหม่เป็นรูปเกือกม้า หรือตัว C ตามแบบที่กรมฯกำหนด โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมลักษณ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้างเหมา ในวงเงิน 22,200,000 บาท เริ่มสัญญา 10 เม.ย. - 10 ก.ย. 62 แต่มีการขยายอายุสัญญาออกไปอีกนั้น
น.ส.นาตยา ภูศรี ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ตามแผนฯ นอกจากจะมีการปรับปรุงศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทุบอาคารที่บดบังออกและสร้างอาคารรูปเกือกม้าแทนดังกล่าวแล้วยังจะมีการดำเนินงานด้านโบราณคดี ซ่อมแซมแนวกำแพงเก่า ปรับภูมิทัศน์ พระมหามณเฑียร เจดีย์ ทางเท้าเข้าวัดวิหารทอง วัดโพธิ์ทอง วัดศรีสุคต กำหนดอายุหลักฐาน ทำแบบ เป็นต้น
จากการดำเนินงานล่าสุดได้ขุดพบแนวกำแพงพระราชวังจันทน์เพิ่มเติม บริเวณทางเข้าศาลสมเด็จฯ ด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงที่ก่อสร้างขึ้นยุคที่ 3 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือพุทธศตวรรษที่ 21-23 และจากร่องรอยแนวกำแพงที่ขุดค้นพบว่าในอดีตมีการบูรณะและการก่อสร้างมาถึง 3 ครั้ง ซึ่งพระราชวังจันทน์นั้นสันนิษฐานว่าเป็นพระราชวังที่ประทับและแปรพระราชฐานของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย และสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสได้กล่าวถึงเมืองพิษณุโลก เป็นหัวเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญในภาคเหนือ รองลงมาจากกรุงศรีอยุธยา
“แนวกำแพงทางเข้าเดิมของศาลฯ ที่ขุดพบนี้อยู่ลึกสุด ซึ่งทางกรมศิลปากรจะกลบหลักฐานส่วนนี้ไว้ แต่มีวิธีการสื่อความหมายด้วยการปูอิฐแกร่งเพื่อแสดงสัญญลักษณ์ให้ทราบว่าใต้พื้นบริเวณดังกล่าวเป็นแนวกำแพง พร้อมเขียนข้อมูลไว้ตรงบริเวณดังกล่าวด้วย”
ส่วนอาคารรูปเกือกม้าหรือรูปตัว C นั้น วางแผนจะใช้เป็นสถานที่จัดประชุมและแสดงนิทรรศการ ภายในจะมีภาพประติมากรรมปูนปั้น แสดงพระราชประวัติ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดให้ชม ซึ่งต้องกันพื้นที่บางส่วนเพื่อไม่ให้โบราณสถานพระราชวังจันทน์ชำรุดเสียหาย เพราะเป็นสมบัติของชาติ-ของคนพิษณุโลก
ด้านอาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ปราชญ์ท้องถิ่นคนเมืองพิษณุโลก อาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมพิษณุโลก เปิดเผยว่า อิฐแนวกำแพงวังชั้นในและชั้นนอกปรากฏอยู่ใต้พื้นดินใต้ถนน ลึกลงไปในราว 1 เมตรเศษ ส่วนแนวกำแพงที่พบเพิ่มหลังรื้อสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่เรียกว่าพระตำหนักทัศนอุจาดออกเป็นแนวกำแพงวังหน้า นอกจากนี้ยังพบเศษปูนคอนกรีตเสริมเหล็ก ฐานอาคารเก่า ก็คืออาคารเรียนโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมเดิม สมัยรัชกาลที่ ๘ ที่รื้อเมื่อปี พ. ศ. 2505 ตามแนวถนนดินเดิม
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรอบๆ ตัวอาคารศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่กำลังปรับปรุง พบรอยแตกร้าวของพื้นกระเบื้องลานศาลฯ ทางด้านใต้ เฉียงไปทางบันไดศาลฯ ทั้งยังมีคราบน้ำหวานหรือน้ำมันจากเครื่องสังเวยบูชาที่ประชาชนนำมาบวงสรวงแก้บน รวมไปถึงขี้นกที่เกาะตัวอาคารศาลฯ จนสกปรกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ตัวอาคารศาลสมเด็จพระองค์ดำ แต่เดิมนั้นฐานเป็นทรายล้างสีเทา ส่วนบนเป็นทรายล้างสีขาว แต่ปัจจุบันได้บูรณะทาสีใหม่เป็นสีขาวทั้งหมด ถือว่าผิดจากสีเดิม ไม่ตรงตามศิลปกรรมเดิม
“อยากเสนอให้สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บูรณะทำความสะอาดทาสีอาคารศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสียใหม่ให้ตรงตามแบบดั้งเดิมด้วย”