เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นนับหมื่นคนเข้าชื่อคัดค้านแผนการรื้อถอนอาคารเก่ายุคต้นศตวรรษที่ 20 จำนวน 2 หลังในเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงไม่กี่แห่งที่เหลือรอดจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยืนยันกับเอเอฟพีวันนี้ (17 ธ.ค.) ว่าได้รับคำร้องจากพลเมืองราว 12,000 คนที่ต้องการให้รักษาอาคารทั้ง 2 หลังไว้ โดยอาคารดังกล่าวอยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งในปี 1945 ประมาณ 2.7 กิโลเมตร
อาคารซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐสีแดงเป็นส่วนหนึ่งของหมู่อาคาร 4 หลังที่สร้างขึ้นในปี 1913 และเคยถูกใช้เป็นโรงงานผลิตเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น
จากการทดสอบความต้านทานแผ่นดินไหวเมื่อ 2 ปีก่อนพบว่า อาคารทั้ง 3 หลังมีสิทธิ์ที่จะพังถล่ม หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงกว่าระดับ 6 ตามมาตราวัดของญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งหมด 7 ระดับ
“เราไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะหากอาคารถล่มลงมาจะเป็นอันตรายต่อคนในชุมชน” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามอธิบาย
ปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นเป็นเจ้าของอาคาร 3 ใน 4 หลัง ส่วนหลังสุดท้ายเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลกลางญี่ปุ่น
ทางการท้องถิ่นประเมินว่า หากจะเสริมโครงสร้างอาคารทั้ง 3 หลังให้แข็งแรงจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 8,400 ล้านเยน ดังนั้นจึงมีการเสนอให้ทุบอาคาร 2 หลังทิ้ง และปรับปรุงเฉพาะหลังสุดท้ายที่เหลืออยู่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายลดลงมาอยู่ที่ราวๆ 1,400-3,100 ล้านเยน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ดูจะไม่เป็นที่พอใจของคนท้องถิ่น โดยล่าสุดมีผู้เข้าชื่อคัดค้านผ่านคำร้องออนไลน์แล้วเกือบ 15,000 รายชื่อ
อนุสาวรีย์สันติภาพแห่งฮิโรชิมะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘โดมปรมาณู’ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดซึ่งรอดพ้นจากอำนาจทำลายล้างของระเบิด ‘ลิตเติลบอย’ ที่สหรัฐฯ นำมาทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมะในวันที่ 6 ส.ค. ปี 1945 แต่อันที่จริงยังมีอาคารอีกนับสิบแห่งที่หลงเหลืออยู่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดกราวนด์ซีโร
ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยถูกทำลายล้างด้วยระเบิดปรมาณู โดยหลังจากปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิผ่านไปไม่กี่วัน ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 ส.ค. ปี 1945 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2