xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นภัยแล้ง! จันทบุรี เตรียมแผนรับมือหลังพบพื้นที่เกษตรขยายเสี่ยงทำน้ำในอ่างฯไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบรี - หวั่นวิกฤตภัยแล้ง! จันทบุรี เตรียมแผนรับมือหลังพบพื้นที่การเกษตรเพิ่ม อาจเสี่ยงต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ  8 แห่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เร่งเตือนประชาชนใช้น้ำประหยัด-ทำความเข้าใจเกษตรกรใช้น้ำรู้คุณค่า


วันนี้ ( 26 พ.ย.) นายอวิรุทธ์ วรกิตติไพศาล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการป้องกันภัยแล้งว่า จ.จันทบุรี ได้จับมือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนเผชิญเหตุในการป้องกันภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนานและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ทั้ง ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และอื่นๆ ที่ต้องการน้ำในการบำรุงผลผลิต


ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัด พบว่าพื้นที่การปลูกผลไม้เศรษฐกิจที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นใน จ.จันทบุรี ส่งผลต่อความต้องใช้น้ำเพื่อหล่อเลี้ยงผลผลิตของเกษตรกร ทำให้ จ.จันทบุรี ต้องเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งด้วยการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเรื่องการใช้น้ำอย่างถูกวิธี รวมทั้งจัดทำแผนบูรณาการป้องกันปัญหาทั้งระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น


ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดจันทบุรี พบว่าในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและอ่างเก็บน้ำรวม 8 แห่งในพื้นที่ยังคงเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแต่ต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและ ประหยัด
โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ย.2562 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนคิรีธาร สามารถกักเก็บได้ 70.983 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 93.40 ของความจุเขื่อน ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนพลวง มีจำนวน 72.504 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90.43 ของความจุเขื่อน


ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย มีจำนวน 11.320 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94.33 ของความจุอ่าง , ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ มีจำนวน 60.629 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77.73 ของความจุอ่าง , ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองประแกต มีจำนวน 60.902 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101.07 ของความจุอ่าง


และปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองวังโตนด มีจำนวน 10.550 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 119.21 ของความจุอ่าง , ปริมาณน้ำฝายยางจันทบุรี มีจำนวน 3.480 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82.86 ของความจุฝาย ส่วนปริมาณน้ำฝายยางท่าระม้า มีจำนวน 0.872 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105.06 ของความจุฝาย
 
ขณะที่ จ. จันทบุรี มีพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพืชสวนจำนวนมากและต้องใช้น้ำในการบำรุงผลผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบประกอบกับปัจจุบันสภาพอากาศของ จ.จันทบุรี ได้เข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วงจึงต้องเตรียมตัวป้องกันในการลดผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้น


และหากประสบปัญหาวิกฤติ เกษตรกรหรือราษฎรสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทันที














กำลังโหลดความคิดเห็น