xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทาน วางแผนรับมือศึกชิงน้ำเขต ตอ.หลังน้ำในอ่างฯ หลายแห่งลดอย่างน่าใจหาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - สำนักงานชลประทานที่ 9 วางแผนรับมือศึกชิงน้ำหลังปริมาณน้ำในอ่างฯ หลายแห่งภาคตะวันออกลดลงอย่างน่าตกใจ โดยที่ จ. ฉะเชิงเทรา เตรียมจัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มอีก 3 แห่ง รวมทั้งสร้างอุโมงค์น้ำลอดใต้ดินผันน้ำจากสระแก้วมาเก็บในพื้นที่


วานนี้ ( 28 พ.ย.) กรมชลประทาน นำโดย นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายวิทยา สามสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค เขต 1 ได้จัดเวทีการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำเพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงทำความเข้าใจ รวมทั้งตอบข้อซักถามของคณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา หลังเกิดวิกฤตปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีปริมาณลดน้อยลง


โดยเวทีดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานฉะเชิงเทรา ต.บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และมีผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแควระบมสียัด และคลองท่าลาด เข้ามาร่วม
 
ทั้งนี้ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำในอ่างเหลือเพียงร้อยละ 40 ของความจุ และเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้จึงมีน้ำเหลืออยู่ในอ่างฯ แค่เพียง 140 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 420 ล้าน ลบ.ม.


ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองระบม มีปริมาณน้ำ 32 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 55 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สำนักงานชลประทานที่ 9 และโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ต้องวางแผนจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน


นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 เผยว่าในปี 2562 ชลประทานได้วางแผนจัดสรรการใช้น้ำตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ด้วยการกันน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าด้านอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และยังมุ่งเน้นการใช้น้ำในลักษณะของการรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ


อันดับที่ 2 คือการให้ความสำคัญกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งเกษตรฤดูแล้งและน้ำที่ต้องใช้ในการเตรียมแปลงช่วงฤดูฝน
 
“ จึงต้องใช้เวทีของการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้มาพูดคุยกันว่า เรามีน้ำอยู่ประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ที่จะใช้ในการเกษตรได้ ขณะที่ภาคเกษตรกร ก็ต้องวางแผนในการใช้น้ำที่เหลืออยู่ประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ให้เพียงพอจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง และยังเหลือน้ำสำหรับเตรียมแปลงใช้ในช่วงต้นฤดูฝนถัดไปด้วย เนื่องจากในปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 และยังไปตกที่ด้านท้ายอ่างฯเป็นส่วนใหญ่”


ส่วนแผนการจัดสรรน้ำในระยะยาวนั้น กรมชลประทาน ได้เตรียมที่จะเสนอให้มีการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่งตอนกลางของลุ่มน้ำขึ้นอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองกระพง ใน ต.ท่ากระดาน ที่มีความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม.


อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีความจุ 19.20 ล้าน ลบม. และอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง ใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ที่มีความจุ 15 ล้าน ลบม. ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำรวมที่สามารถกักเก็บได้จากอีกประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.


“ ปริมาณน้ำในส่วนนี้ก็มีการวางแผนให้ใช้สำหรับการสาธารณูปโภค หรือรองรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างเพียงพอ และยังเตรียมศึกษาแผนการสร้างอุโมงค์น้ำลอดผ่านใต้ดินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยเพียง 280 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จากความจุ 420 ล้าน ลบ.ม.”


นายเกรียงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าแผนดังกล่าวจะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากจะต้องดำเนินงานในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และหากพบว่ามีความเหมาะสมก็จะทำเรื่องขอใช้พื้นที่ในปี พ.ศ.2569 เนื่องจากทางลุ่มน้ำคลองพระสะทึง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ มากถึงเกือบ 200 ล้าน ลบม. แต่อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง กักเก็บน้ำได้เพียง 65 ล้าน ลบ.ม .เท่านั้น


ขณะที่อ่างเก็บน้ำใน จ.ฉะเชิงเทรา ยังมีพื้นที่ว่างมากถึงกว่า 100-120 ล้าน ลบ.ม. ในการรองรับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ และรองรับความต้องการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งรองรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆในโครงการอีอีซี ตามแผนพัฒนาชาติระยะแระยะ 20 ปี



ด้าน นายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ คณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด ได้ซักถามที่ประชุมถึงแผนการจัดการน้ำในพื้นที่หลังการเกิดขึ้นของโครงการอีอีซี ที่มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกงกว่า 5 ล้านคนว่าการประปาส่วนภูมิภาคมีแผนรับมืออย่างไร หากน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ


โดยประปาส่วนภูมิภาค ได้ชี้แจงว่าขณะนี้แม้จะยังมีแผนรองรับในระยะยาวเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำดิบ หรือแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา แต่ก็ได้มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 4,000 ลบ.ม.ต่อ ชั่วโมงไว้ที่สถานีสูบน้ำคลองท่าลาด ซึ่งจะสูบน้ำจากโครงการชลประทานคลองท่าลาด ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม มาจ่ายน้ำให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพนมสารคาม ,บางคล้า และพนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำจากโครงการชลประทานประมาณ 28-30 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีแล้ว

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9





คณะกรรมการผู้ใช้น้ำคลองท่าลาด






กำลังโหลดความคิดเห็น