“กรมการค้าต่างประเทศ” เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ช่วง 9 เดือนปี 62 มีมูลค่ารวม 50,312.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.41% อาเซียนยังคงนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด จับตาตลาดกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ยอดใช้สิทธิพุ่ง เตรียมลงพื้นที่กระตุ้นการใช้สิทธิประโยชน์สร้างแต้มต่อในการส่งออกต่อ
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 50,312.06 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.25% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 64,296.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.41% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก อาเซียนยังคงเป็นอันดับ 1 มูลค่า 18,680.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยจีน มูลค่า 13,757.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 6,030.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 5,724.62 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 3,345.33 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับกรอบ FTA ที่มีการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี อันดับที่ 1 สูงถึง 100% รองลงมา คือ อาเซียน-จีน 94.48% ไทย-เปรู 93.11% ไทย-ญี่ปุ่น 89.94% และอาเซียน-เกาหลี 84.07% ส่วนตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ได้แก่ เปรู เพิ่ม 24.65% นิวซีแลนด์ เพิ่ม 4.96% จีน เพิ่ม 4.33% ญี่ปุ่น เพิ่ม 2.37% อินเดีย เพิ่ม 0.48% ส่วนอาเซียน ลด 6.36% ออสเตรเลีย ลด 23.05% ชิลี ลด 26.17% และเกาหลี ลด 4.58% โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย
“แม้ตลาดอาเซียนจะมีการใช้สิทธิประโยชน์ลดลง แต่บางตลาดในอาเซียนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กัมพูชา มีมูลค่าการใช้สิทธิ 876.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.40% สปป.ลาว ใช้สิทธิ 329.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.47% และเวียดนาม ใช้สิทธิ 5,707.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.11% ซึ่งกรมฯ จะมีการเดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ ล่าสุดมีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ครบเครื่องเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า” ในวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ณ โรงแรมอัศวรรณ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั้งแบบกระดาษและระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Form D และ Form E ซึ่งเป็นเอกสารที่นำไปประกอบการขอลดหย่อนภาษี ณ ประเทศปลายทางอย่าง สปป.ลาว และจีน