ลำปาง - “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เปิดใจในโรงหนัง..ไม่ค่อยปลื้มภาพยนตร์ “The Cave : นางนอน” ชี้ความสามัคคีทีมกู้ภัยนับหมื่นหลุดเฟรม-เพิ่มบทล้อ ขรก.ไทยทั้งที่ไม่รู้เกิดจริงมั้ย บอกควรระบุเป็นบทภาพยนตร์แทนคำว่า “สร้างจากเรื่องจริง” ด้านผู้กำกับฯ รับอยากชูนักกู้ชีพใต้น้ำ
กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ได้เชิญนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ผู้ว่าฯ หมูป่า), ผู้กำกับชื่อดัง ทอม วอลเลอร์ แห่งเดอะวอร์เรนท์ พิคเจอร์ และจิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม พร้อมอาสาสมัครตัวจริงบางส่วนที่เคยเข้าร่วมภารกิจช่วย 13 หมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมชมและเปิดรอบปฐมทัศน์การกุศลภาพยนตร์แห่งปี เรื่อง “THE CAVE นางนอน” ที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลำปาง ค่ำที่ผ่านมา (25 พ.ย.)
ในโอกาสเดียวกันนี้ได้มีการเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อนำรายได้ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้สมทบช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ในจังหวัดลำปาง (ไฟป่า, หมอกควัน) และสมทบทุน น.ต.สมาน กุนัน (จ่าแซม) ผู้ที่ถูกขนานนามว่า “วีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง”
ทั้งนี้ เมื่อนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ผู้ว่าฯ หมูป่า) มาถึง และได้พบกับ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับฯ ได้มีการระบายความรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก่อนที่จะเข้าไปในโรงภาพยนตร์ว่าบทภาพยนตร์บางส่วนไม่ตรงกับเรื่องจริง นายทอมก็บอกว่าเป็นภาพยนตร์
นายณรงค์ศักดิ์ได้บอกว่าใช่เป็นภาพยนตร์ แต่การ Present คุณใช้คำว่าสร้างจากเรื่องจริง ทำให้หลายคนรับไม่ได้ เพราะหนังเรื่องนี้จริงๆ มันน่าจะสร้างความสามัคคีให้กับคนให้กับโลกได้ เพราะมันเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความสามัคคี แต่มุมมองมันต่างไป ซึ่งทอมได้บอกว่าเข้าใจแต่ที่นำเสนอคืออยากให้เห็นการทำงานกู้ภัยของจิม (จิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม) มากกว่า
ผู้ว่าฯ หมูป่าก็บอกว่าใช่ แต่การนำเสนอหรือสื่อต้องให้เห็นว่าโฟกัสให้เห็นอยู่ที่คนคนเดียว ซึ่งคนที่ทำงานเป็นหมื่นคนเขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแล้วความสำเร็จในเรื่องอื่นๆ อยู่ไหน มันหายไปจากบท ไม่มีการพูดถึง
โดยทั้งคู่มีการตอบโต้กันเล็กน้อย เพราะทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับหนังบอกว่าเรื่องที่ตนทำก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น เพราะตอนแรกจะมีคนมาทำแต่ก็ไม่ทำ สุดท้ายก็มีตนทำแล้วก็มาบอกว่าไม่มีนั่นไม่มีนี่ นายณรงค์ศักดิ์จึงบอกว่าเข้าใจ แต่ควรจะนำเสนอถึงหนึ่งชีวิตที่ยากลำบากเพื่อแสดงให้เห็นความสามัคคีบนโลกนี้ยังมีอยู่ แต่เราไม่ได้พูดภาพรวม ก่อนที่นายทอม วอลเลอร์ จะพูดถึงปัญหาในการขออนุญาตต่อหน่วยงานไทยมีมากด้วย
หลังจากนั้นเมื่อเข้าไปยังภายในโรงภาพยนตร์ นายณรงค์ศักดิ์ได้กล่าวก่อนที่จะมีการเปิดฉายภาพยนตร์ว่าที่ผ่านมามีหลายที่ที่เชิญให้ตนเองไปร่วมชมภาพยนตร์แต่ได้ปฏิเสธไป แต่ลำปางคือบ้านก็เลยต้องมาในวันนี้ ดังนั้น อยากบอกก่อนว่าหากเราต้องการชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแบบสารคดีหรือเรื่องจริงอาจจะไม่เหมือนกับที่เราคาดคิด
“ผมชื่นชมคุณทอมและทีมงานเรื่องการทำโปรดักชันในเวลาที่จำกัด และก็อยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา เพราะมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง ในส่วนตัวขอชื่นชมเรื่องที่เก็บรายละเอียดของจ่าแซม ซึ่งในธีมหรือความรู้สึกของผม จ่าแซมคือวีรบุรุษตัวจริงของเหตุการณ์นี้ มีคนไปร่วมในเหตุการณ์กว่าหมื่นคน แต่เราสูญเสียจ่าแซมไปเพียงคนเดียว และหลังจากนั้นทำให้พวกเราทำงานอย่างละเอียดและรอบคอบมากขึ้น และไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีกเลยจนทำงานสำเร็จ”
แต่ในฐานะที่ตนเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขอเสริมความรู้เพิ่มเติมจากการดูภาพยนตร์และจะทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น กล่าวคือ หากถามว่าภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน เป็นอย่างไร ก็ขอบอกว่าเป็นการนำเสนอวีรบุรุษท่านหนึ่งคือ จิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม, จ่าแซม และทีมงานนักดำน้ำที่เข้าไปช่วยอย่างยากลำบาก
ผู้ว่าฯ หมูป่าบอกว่าเราชื่นชมในโปรดักชันที่ได้ทำการพาตัวเด็กและโค้ชออกมาจากถ้ำยากเย็นแค่ไหน ใครที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่รู้ ตนยอมรับว่าตอนแรกที่รู้เรื่องก็ไม่คิดว่าจะยากขนาดนั้น แต่พอไปอยู่หน้าถ้ำถึงรู้ว่ายาก ประกอบกับมีคนกว่าหมื่นคนที่ประสงค์มาอยู่หน้าถ้ำ บางส่วนประสงค์มาช่วยอย่างจริงใจ บางส่วนอยากมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โปรโมตตัวเองหรืออะไรบางอย่าง
“แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอด คือ จริงๆ แล้วเราแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 4 แผน คือ 1. สูบน้ำออกเท่าที่นักดำน้ำต้องการเพื่อให้นักดำน้ำเข้าไปช่วยเด็กออกมา 2. เดินทางโพรงบนยอดดอยเพื่อหาทางเข้าถ้ำ 3. หาเส้นทางของน้ำที่ไหลเข้าถ้ำ 4. หาจุดผนังถ้ำที่บางที่สุด และหาจุดที่เด็กอยู่และเจาะถ้ำ”
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า เห็นความตั้งใจของทอมที่ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะโปรดักชันต่างๆ และด้วยข้อจำกัดหลายอย่างรวมถึงข้อจำกัดของเวลา แต่ทั้งนี้ตนอยากให้ภาพยนตร์ที่ออกมาเห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือการประสานงานกันของกลุ่มคนกว่าหมื่นคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในครั้งนี้ แต่ไม่ปรากฏในบทภาพยนตร์ ซึ่งหากความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ขอให้นึกถึงคนเหล่านั้นด้วยโดยเฉพาะจ่าแซม
อย่างไรก็ตาม อยากฝากเรื่องราวบางอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ อาจจะเป็นเรื่องที่มีคนมาเล่าให้ผู้กำกับฯ ฟัง และอาจจะไม่ได้เช็กและเป็นมุขที่เราไปโจมตีการทำงานของราชการไทย ซึ่งเราอาจจะคิดว่าเอามาสื่อเพื่อให้คลายเครียดคลายความกดดันลงไปได้ แต่มันเป็นมุกที่ข้าราชการอย่างตนเสียความรู้สึกและเสียใจเหมือนกันที่ไม่ได้ทำเหตุการณ์ตรงนั้นเกิดขึ้น แต่ถูกนำไปล้อเลียนในภาพยนตร์ที่จะนำไปฉายทั่วโลก เช่น ฉากที่มีการแลกบัตร และการด่าว่าหากอยากใหญ่ก็ไปใหญ่ที่จังหวัด..ของคุณโน่น รวมถึงการติดต่องานที่เจ้าหน้าที่หญิงบอกว่าให้ไปที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเรื่องจริงก็ยังไม่รู้เลยว่าเจ้าหน้าที่หญิงคนนั้นเป็นใครและไม่เคยให้ไปติดต่องานที่ศาลากลาง
“ผมในฐานะทีมปฏิบัติการทั้งหมดก็ขอบ่นในจุดนี้นิดหนึ่ง แต่อยากบอกว่าเรื่องนี้ถ้าเป็นความดียังไงก็ขอขอบคุณ คุณทอมและทีมงานของผมอีกกว่าเก้าพันกว่าชีวิตซึ่งไม่นับตัวเอง เพราะผมจะพูดเสมอว่าผมคือจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย เพราะหากจิ๊กซอว์ทุกตัวที่ส่งมาถึงมือผมไม่ดี ไม่มีทางที่ภาพจะออกมาสวยหรู ผมแค่ลงเม็ดตัวสุดท้ายเท่านั้น ฉะนั้นขอให้ความดีอยู่ที่คณะทำงานทุกท่านรวมถึงจ่าแซม”
ดังนั้น หากใครชมแล้วก็ขอให้เข้าใจว่ามันคือภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี จริงๆ แล้วควรจะใช้คำว่าบทภาพยนตร์ คนจะได้เข้าใจ เพราะหากเราบอกว่าเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง แต่หลายเรื่องมันไม่จริง แม้แต่ตัวละครหลายตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคือใคร คอสตูมต่างๆ อาจจะไม่ตรง
ขณะที่ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับหนังฯ ได้บอกว่าเข้าใจผู้ว่าฯ ที่อาจจะบอกว่าตรงนั้นไม่ตรง ตรงนี้ไม่ตรง แต่อยากให้เห็นถึงการช่วยชีวิตเด็กออกจากถ้ำของทีมกู้ภัยใต้น้ำ ซึ่งก็ใช้คนที่เข้าไปช่วยจริงๆ มาแสดง ก็คิดว่าตนเองถ่ายทอดในส่วนนี้ได้สมบูรณ์ แต่ส่วนอื่นเนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็อาศัยการบอกเล่าจากผู้ที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ประกอบด้วยและคิดว่าหนังเรื่องนี้จะไปไกลทั่วโลก
ทั้งนี้ ในหนังเรื่องนี้ตนก็ต้องบอกว่าได้ใส่ประเด็นบางอย่างที่อยากเล่าเข้าไป เพราะไม่ได้ตามนักข่าวตลอดและก็มีการนำเสนอสารคดีไปเยอะแล้ว ก็ต้องมีที่ตนอยากเอามาใส่ในหนังซึ่งได้เขียนบทไว้และรู้สึกว่าคนไทยควรจะรู้ว่ามันมีแบบนี้ด้วย เช่น ความลำบากในการเข้าไปช่วย เช่นบางคนอยากไปช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยยังไงหรือไม่มีบัตรเข้า แบบนี้ก็ถือว่าน่าสนใจอยากเล่าตรงนี้ด้วย ไม่อยากให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีอะไรหลายอย่างที่สามารถนำมาใส่ในหนังได้