ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในไทย! “TheCaveนางนอน” จุดกระแสดรามาถล่ม “เหมือนลากไปตบหน้า” เสียดสีระบบราชการไทยได้เจ็บแสบ! ล่าสุด ผู้ว่าฯ ทีมหมู่ป่าออกมาตำหนิ “หนังไม่ตรงตามความจริง” ด้านผู้กำกับสวนกลับ “อย่าดูแค่ตัวอย่างแล้ววิจารณ์หนังผม” นักรีวิวหนังเพจดัง วิเคราะห์ เจตนาหนังไม่ได้ประจานเมืองไทย ชี้มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล!
ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 #TheCaveนางนอน ขยี้ระบบราชการไทย!
“ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าทุกคนมีประสบการณ์กับราชการไทยกันอยู่แล้ว เพราะในชีวิตจริง ชีวิตประจำวันต้องเคยติดต่อราชการ และมันเป็นประสบการณ์ของแต่ละคนที่ผูกติดกับภาพข้าราชการแบบนั้นไว้ และเจตนาของหนังไม่ได้เป็นการโจมตีข้าราชการ เพราะมันแค่ส่วนหนึ่งที่โผล่มาแค่นิดหน่อย”
นักวิจารณ์หนังจากเพจดัง “หนังโปรดของข้าพเจ้า” ที่มียอดติดตามกว่า 1.2 ล้านคน เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงกระแสภาพยนตร์เรื่อง “The Cave นางนอน” ซึ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างหนักถึงการนำเสนอที่มีบางฉากที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการไทย
โดย นัท เจ้าของเพจดังกล่าวได้รับชมภาพยนตร์และให้ความเห็นต่อเรื่องที่ผู้คนกำลังวิจารณ์กันว่า นี่เป็นการเสียดสี สะท้อนเรื่องจริงความล่าช้าของระบบราชการไทยหรือไม่นั้น
เขามองว่าเป็นเพียงเนื้อเรื่องบางส่วนเท่านั้นที่หยิบมาพูดถึง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาในการโจมตีประเทศไทย แต่แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการเข้าช่วยเหลือมากกว่า
“มันเหมือนการเล่า มันไม่ใช่หนังที่ทุกอย่างราบรื่นอยู่แล้ว เหตุการณ์จริงผมเชื่อว่าทุกอย่างมันก็ไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่ต้น มันต้องมีอุปสรรค และเขาก็นำเสนอว่าอุปสรรคมันคืออะไร ซึ่งจากในมุมของนักดำน้ำ มุมมองของคนที่อยากเข้าไปช่วย ก็มองว่ามันติดเรื่องราชการ
ยกตัวอย่าง การต้องขอใบอนุญาต จะเข้ามาต้องมีบัตร มันก็โอเค เข้าใจได้เรื่องรักษาความปลอดภัย แต่มันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเล่าว่าเจอแบบนี้มา มันไม่มีทางแก้ หรือจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือก็ต้องไปติดต่อศูนย์ราชการในตัวเมือง หรือการไล่ให้ไปเก่งที่อื่น มันก็มีฉากนี้อยู่
แต่มันก็คือในมุมมองของ “ผู้ใหญ่ตั้น” หรือจาก “อ.อดิสรณ์ ศิรินันทนาพร” ที่เขาให้สัมภาษณ์กับทีมงานผู้กำกับมาเขียนบท มันไม่ได้เป็นมุมมองของข้าราชการที่อาจจะมีอีกเหตุผลที่ปฏิเสธ จริงๆ การทำหนังมันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเล่า และมันเป็นเรื่องของคนดูที่เป็นคนตัดสิน
เรื่องการปฏิเสธ จริงๆ เขาอาจจะมีเหตุผลของเขา และเราต้องมาดูกันต่อว่าเหตุผลมันเข้าใจได้ไหม ขณะที่ในหนังก็ไม่ได้บอกว่าเหตุผลที่โดนปฏิเสธมันคืออะไร เพราะเขาอาจไม่ได้ไปสัมภาษณ์ ทีมงานอาจไม่ได้เข้าถึงข้อมูล เขาจะเล่าในเชิงที่เป็นข้อเท็จจริงว่าเขาโดนปฏิเสธมาแค่นั้น”
ขณะที่ในสังคมออนไลน์พากันติดแฮชแท็ก #TheCaveนางนอน ในทวิตเตอร์จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าเป็นหนังที่เหมือนโดนตบหน้าตั้งแต่ต้นเรื่องจนกลางเรื่อง แถมยังมีการแนะนำกันด้วยว่าถ้าอยากหน้าชาให้ไปดูเอง
“ที่ว่าเหมือนโดนตบหน้า ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าโดนตบหน้าอะไร มันก็เหมือนเรื่องปกติที่เจออยู่แล้ว จะบอกว่าความเคยชินก็ได้ เป็นความคุ้นเคยที่เราเจอ
จริงๆ ผมไม่ได้บอกว่าราชการทุกอย่างจะไม่ดีนะครับ ก็มีข้าราชการที่ผมเคยติดต่อแล้วดีมากๆ ดีจนประทับใจ แต่ว่ามันก็เป็นสิทธิของคนที่เจอไม่ดีแล้วเขาจะเล่าในมุมที่เจอ
มันไม่น่าเรียกว่าการแฉนะครับ ผมว่าทุกคนน่าจะชินนะ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะขนาดนั้น คือเจตนาเขาไม่ได้มุ่งโจมตีอยู่แล้ว มันเป็นแค่อุปสรรคในหนัง หนังแนวกู้ภัยทุกเรื่องมันต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว อย่าง The Cave จะเล่าอุปสรรคในเชิงของความรวดเร็วในการทำงาน และความวุ่นวายของขั้นตอน
ผมว่าถ้าอยากจะใส่หนัก ใส่เต็ม อยากให้ดูหนังก่อน จะมีคนที่อ่านที่แชร์กันแค่นั้น แล้วคิดว่าหนังมันต้องด่าราชการแน่ๆ เลย ซึ่งจริงๆ มันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่เป็นอุปสรรคของหนัง แต่ภาพรวมก็ไม่ใช่หนังที่สร้างมาเพื่อด่าเมืองไทย จริงๆ แล้วผู้ว่าฯ ในหนังก็แทบไม่มีบทบาทเลย
สำหรับหนังเรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์งานหนึ่งที่ถ่ายทอดลงมาเป็นหนัง แล้วเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นที่เมืองไทย มันเกี่ยวข้องกับคนไทยหลายภาคส่วน และมีคนต่างชาติมาช่วยทำให้เราไม่ลืม ไม่มองข้ามทีมช่วยเหลือทั้งหมด แม้หลายคนจะไม่ปรากฏในหนังก็ตาม”
กระแสตีกลับ หนังไม่ตรงความจริง!!
“เมื่อคืนผมไปงานเปิดตัวหนังที่ลำปาง และมีโอกาสได้พบกับท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ในครั้งกู้ภัยถ้ำหลวง ความประทับใจเริ่มแรกที่ผมได้รับราว 20 นาที ที่ท่านด่าหนังผมให้ฟังว่าไม่เป็นจริง ดูจากตัวอย่างหนังแล้วไม่ควรเรียกว่าภาพยนตร์ Based on a true story ควรเป็นแค่ภาพยนตร์ธรรมดา
ท่านไม่มีเวลากระทั่งทักทายหรือมองหน้าจิม (นักดำน้ำ) จนเข้าโรงภาพยนตร์ ท่านยังต่อว่าไม่หยุด “ในภาพยนตร์มีตั้งหลายหน่วยงานที่ทำให้ภารกิจสำเร็จ ทำไมเล่าแต่ของผู้ใหญ่ ของจิม ไม่มีที่เดินสำรวจขุดเจาะถ้ำ ภาพยนตร์ไม่ตรงกับความจริง...” แล้วท่านเดินออกจากโรงไป
ผมไม่อยากให้ท่านตัดสินว่าภาพยนตร์ผมไม่ตรงความจริง เพียงเพราะท่านรับชมจากตัวอย่างภาพยนตร์ หรือคำรีวิว ที่บอกว่าสร้างมาล้อเลียนข้าราชการ ถ้าท่านชมภาพยนตร์จบแล้วต่อว่าหนังผม อันนั้นผมยอมรับได้
ท่านบอกภาพยนตร์ไม่ตรงความจริง ใช่ครับ มีซีนหนึ่งที่ไม่ตรงจริง เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ได้เป็นคนไล่อาจารย์อดิสรณ์ให้ไปเก่งที่นครปฐม แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีโอกาสได้ดู เพราะนั่งอยู่แค่ 3 นาที ครับ”
ผู้กำกับ “ทอม วอลเลอร์” ได้ระบายความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังได้พบกับ (อดีต) ผู้ว่าฯ ภารกิจทีมหมูป่าที่งานภาพยนตร์ The Cave นางนอน ทว่า เรื่องราวกลับร้อนระอุเพราะบทสนทนากลับเต็มไปด้วยความไม่พอใจ และมีท่าทีตำหนิผลงานของทอม วอลเลอร์ว่านำเสนอออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“จริงๆ เราไม่ได้ดูภาพยนตร์ เราดูจากตัวอย่าง แต่เราดูว่าตัวอย่างที่ออกมาบางเรื่องมันไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งในไลน์ตอนนี้เรียกว่าถล่มกันมาก จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความสามัคคีให้แก่ทุกคน ให้แก่โลกได้ แต่ตอนนี้มุมมองมันต่างออกไป
แต่บทมันต้องสื่อให้เห็น ภาพยนตร์ต้องนำเสนอให้เห็นว่ามันโฟกัสอยู่ที่คนคนเดียว จริงๆ แล้ว หลายเรื่องที่คนทำงานเป็นหมื่นคน หลายคนพูดว่าแล้วที่ประสบความสำเร็จเรื่องอื่นๆ ทำไมมันหายไปจากบท ไม่มีการอ้างถึง แล้วคนอื่นไปไหน”
แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอคือเรื่องราวของ “จิม วอร์นี” นักดำน้ำชาวเบลเยียมที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายช่วย 13 ชีวิต ซึ่งไม่ได้เน้นไปที่ตัวเด็กทั้ง 13 คน หรือหน่วยงานบางกลุ่มอาจไม่ได้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้
สอดคล้องกับ นัท นักรีวิวหนังจากเพจ “หนังโปรดของข้าพเจ้า” ได้ช่วยวิเคราะห์เนื้อหาของหนังด้วยว่าสาเหตุหลักที่เนื้อเรื่องบางส่วนไม่ครบสมบูรณ์ คาดว่าเป็นเพราะการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางอย่างได้ของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ และข้อจำกัดเรื่องเวลาในการฉาย
“ต้องเข้าใจว่าเวลาเต็มที่คือ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไม่มีทางเล่าได้ทั้งหมด มันเป็นเรื่องของทุนสร้างที่เราอาจจะเข้าถึงกลุ่มคนได้จำกัด ผมก็เข้าใจในมุมของผู้ว่าฯ ว่าทำไมไม่มีตรงนั้น แต่ความเป็นจริงการทำหนังต้องมองเรื่องงบด้วย การเข้าถึงข้อมูล เวลาในการฉาย มันไม่สามารถยัดทุกอย่างเข้ามาได้หมดอยู่แล้ว
ยิ่งภารกิจนี้มันหลายคนมาก หนังของเขามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เล่าของคนนี้นะ (จิม วอร์นี) ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้นะ ถ้าใครจะเล่ากลุ่มอื่น ใครจะทำภาพรวม ใครจะทำอะไรก็สามารถทำได้ เพราะเขาต้องการเล่าแค่ตรงนี้
ผมเดาว่า The Cave ไม่ได้มีทุนสร้างสูง ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลหลายอย่างที่รัฐบาลไม่ได้ให้ ผมก็โอเคที่เขาเข้าถึงข้อมูลแค่ไหน เขาก็เล่าแค่ส่วนนั้น เขาไม่ได้ไปจินตนาการเสริมเพิ่มขึ้นมา
ส่วนที่บอกว่าไม่ตรงตามความจริง มันก็ขึ้นอยู่กับว่าความจริงของใครครับ (หัวเราะ) เพราะว่าสิทธิของผู้กำกับก็มีข้อมูลของเขาอยู่ คนที่มาแสดงหนังก็เป็นตัวจริง ที่แน่ๆ คือนักดำน้ำ กับตัวผู้ใหญ่ และอาจารย์อดิสรณ์ อีกหลายๆ คนเลยที่มาเล่น ซึ่งคนกลุ่มนี้คือคนที่ให้ข้อมูล
ตัวเรื่อง อย่างที่เขาเล่าภารกิจในถ้ำ มันมาจากนักดำน้ำเล่า นักดำน้ำเป็นคนแสดงเอง มันก็มีแนวโน้มจะเชื่อได้อยู่แล้วว่าที่เขาทำ มันเป็นอย่างนี้นะ ของจริงมันเป็นแบบนี้”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **