“ผมไม่อยากให้ท่านตัดสินว่าภาพยนตร์ผมไม่ตรงความจริงเพียงเพราะท่านรับชมจากตัวอย่างภาพยนตร์ หรือคำรีวิว ที่บอกว่าสร้างมาล้อเลียน ขรก. ถ้าท่านชมภาพยนตร์จบแล้วต่อว่าหนังผม อันนั้นผมยอมรับได้ ท่านบอกภาพยนตร์ไม่ตรงความจริง ใช่ครับ มีซีนนึงที่ไม่ตรงจริง เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ได้เป็นคนไล่อาจารย์อดิสรณ์ให้ไปเก่งที่นครปฐม แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีโอกาสได้ดูเพราะนั่งอยู่แค่ 3 นาทีครับ”
นั่นคือสาระสำคัญส่วนหนึ่งของข้อความที่ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ “ทอม วอลเลอร์” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “The Cave นางนอน” หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของภารกิจการช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่เข้าไปติดน้ำป่าอยู่ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย อยู่นานถึง 18 วัน
"ทอม วอลเลอร์" เป็นนักเขียน ผู้สร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์ลูกครึ่งไทย-ไอริชที่ฝากผลงานการกำกับภาพยนตร์ไว้หลายเรื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นหนังไทย 2 เรื่อง คือ “ศพไม่เงียบ” (Mindfulness and Murder) ที่ได้รับ 3 รางวัลใหญ่จากเทศกาล International Thriller and Spy Film Festival 2010 และหนังเกี่ยวกับชีวิตมือสังหารนักโทษคนสุดท้ายของไทยเรื่อง “เพชฌฆาต” (The Last Executioner) ที่ทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดาร์กา รวมถึงได้รางวัลถ้วยทองคำ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหรือตุ๊กตาทองอีกด้วย
ทว่าเมื่อภาพยนตร์ “The Cave นางนอน” เข้าฉายในประเทศไทย กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแง่มุมที่ว่าบิดเบือนเรื่องจริง โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักก็คือการสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าของระบบราชการไทย
บางคนถึงขนาดบอกว่าเหมือนลากข้าราชการไทยมาตบกลางสี่แยก !!!
โดยผู้ที่ถูกมองว่าเป็นคนจุดให้ประเด็นดังกล่าวลุกฮือในโลกโซเชียล ก็คือ “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกู้ภัยในขณะนั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากเรามองในแง่มุมของความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับสารคดี ก็อาจจะพอเข้าใจในประเด็นดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น
กล่าวคือภาพยนตร์ แม้จะมีการโปรยข้อความว่า Base on true story แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกถ้อยกระทงความในเนื้อหาจะถูกต้องความเรื่องจริงทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะมีการเพิ่มเติมสีสันเพื่อให้เนื้อหนังมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
ต่างจากสารคดีที่สื่อสารแบบตรงมาตรงไป ไม่มีการต่อเติมเสริมแต่ง
ประเด็นก็คือ ต้องยอมรับก่อนว่าภาพยนตร์ที่ Base on true story นั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอ้างเอ่ยถึงตัวละครที่เป็นบุคคลจริงๆ ที่มีบทบาทและความสำคัญเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง การที่จะต่อ เติม เสริม แต่งใดๆ ก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลนั้นๆ เป็นสำคัญด้วย
หรือแม้ต่อให้สิ่งที่พูดเป็นเรื่องจริง ก็ไมได้หมายความว่าเรื่องจริงทุกเรื่องจะพูดผ่านภาพยนตร์ได้หมด
หากเมื่อมองในอีกแง่มุมหนึ่ง สิ่งที่อาจจะนำพามาซึ่งความไม่พอใจเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว อาจจะหมายถึงเจตนาของการเขียนบทที่ชูความเป็นฮีโร่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากจนเกินไป แทนที่จะนำเสนอว่าทุกคนที่บทบาทในภารกิจการช่วยเหลือทีมหมูป่าในครั้งนี้ ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะดูเหมือนว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ ตั้งใจเทน้ำหนักไปที่เรื่องราวของ “จิม วอร์นี” นักดำน้ำชาวเบลเยียม จนกลบความสำคัญของบุคคลบางกลุ่มที่มีส่วนร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่ต่างกัน
ข้อกังขาอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตเอง ก็แทบจะไม่ถูกพูดถึง !!!โดยประเด็นนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มีเหตุปัจจัยมาจากเรื่องของลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ
ทั้งนี้เพราะเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับ 13 หมูป่านั้น ลิขสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เป็นของบริษัท SK GLOBAL ENTERTAINMENTบริษัทสร้างภาพยนตร์จากอเมริกาที่มีผลงานชื่อดังอย่าง Crazy Rich Asians ซึ่งจะผลิตมาป้อนให้กับทาง Netflix โดยมีการทำสัญญาอย่างเป็นทางการผ่านทาง “พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ พร้อมด้วยตัวแทนบริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด และผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี รวมทั้ง ”โค้ชเอก - เอกพล จันทะวงษ์”
โดยในสัญญาดังกล่าว ระบุว่า บริษัท SK GLOBAL ENTERTAINMENT เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์จัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเรื่องราวของเด็กๆ เกี่ยวกับถ้ำหลวงตลอดชีวิตแต่เพียงผู้เดียว โดยเด็กทุกคนและโค้ชเอกจะได้ค่าตอบแทนตามสัญญาอย่างน้อยคนละ 3 ล้านบาท
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Cave นางนอน” ก็เลยอาจจะส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ ด้าน แต่กระนั้นท่ามกลางกระแสดรามาทั้งหลายทั้งปวง ก็ส่งผลทำให้รายได้ของหนังนำโด่งขึ้นมาเป็นอันดับสอง โดย thailandboxoffice ได้รายงานอันดับหนังทำเงินสูงสุดในไทย รายได้ประจำสัปดาห์ 27 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นรายได้รวมทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 21 - 26 พ.ย. 2562) ข้อมูลรายได้จากโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ทุกสาขาทั่วประเทศ และรายได้ประมาณการณ์จากโรงภาพยนตร์อื่นๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย “The Cave นางนอน” ทำรายได้สูงถึง 22.1 ล้านบาท (รวมทั่วประเทศ 23.3 ล้านบาท) เป็นรองก็แต่เพียงภาพยนตร์แอนนิเมชัน เรื่อง “FROZEN 2 ผจญภัยปริศนาราชินีหิมะ” ที่เปิดตัวไปด้วยรายได้ 103.8 ล้านบาท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน- 6 ธันวาคม 2562