xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมทุ่มงบ 15 ล้านนำกัญชาตัวเมีย ปลูกที่แก่งเสี้ยน เมืองกาญจน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ชี้ต้นกัญชาที่นำไปปลูกที่แก่งเสี้ยน ต้องเป็นตัวเมีย 100 % พร้อมทุ่งงบ 15 ล้าน เพื่อกระบวนการปลูกกัญชาและวิจัยพัฒนา รวมทั้งกระบวนการสกัดกลั่นกัญชา



วันนี้ (8 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ดำเนินการเป็นผู้ขออนุญาตทำการศึกษาวิจัยการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 7ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มาตรา 21 (การขอปลูกและขออนุญาตผลิต) มาตรา 26/5 (ผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตในการผลิต นำเข้าส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5)

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เรื่องที่ 4 ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.62 เรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม ในหัวข้อ การเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน

ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการข้างต้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดกิจกรรมการให้ความรู้กับสมาชิกกลุ่ม อสม.-กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์การเกษตร ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้

ต่อมาวันที่ 17 ส.ค.62 ได้มีการร่วมลงนาม MOU ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเวชศาสตร์สมุนไพรพัฒนาชีวิตครู กลุ่มวิสาหกิจเกษตรวิธีท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยนโดยใช้"แก่งเสี้ยน ดิสทริก-กาญจนบุรี”เป็นโมเดล

ล่าสุด ดร.ไพศาล การถาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครพร้อมนายณัฐชรัตน์ กฤตธน ประธานกรรมการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนกัญชง เพื่อเศรษฐกิจกัญชาทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานที่ผลิต (ปลูก) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โครงการการสร้างเทคโนโลยีการผลิตปลูกกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade) เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทย ให้เป็นสายพันธุ์กัญชาที่มีคุณลักษณะพิเศษในการให้ปริมาณสารสำคัญ ที่ออกฤทธิ์ทางยาสูงและเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง และนำมารักษาผู้ป่วยสำหรับใช้ที่โรงพยาบาลสูงเนินจังหวัดนครราชสีมา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครและวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ โดยสถานที่ตั้งโครงการ อยู่บริเวณชั้นดาดฟ้า อาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดย ดร.ไพศาล การถาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยภายหลังว่า ในเฟสแรกในส่วนของมหาวิทยาลัยจะดำเนินการปักธงขึ้นมาก่อน ก็คือธงแรกมหาวิทยาลัยจะต้องผ่านการขอใบอนุญาตจาก อย.ในการปลูกเพื่อการแพทย์ก่อน ดังนั้นในเฟสแรกเราจะพยายามดำเนินการให้สามารถที่จะดำเนินการปลูกได้

ซึ่งจริงๆแล้วไซส์ที่เราได้ร่วมมือในการดำเนินการในขณะนี้มีอยู่ 2 ไซต์ ไซต์แรกคือที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งจะต้องตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยก่อน อีก 1 ไซต์ คือที่โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง 2 ไซต์ จะเป็นสายหลัก และผลจากการศึกษาทั้ง 2ไซต์จะได้ดำเนินการเข้าสู่เฟสต่อไป เรามุ่งหวังว่าเราจะดำเนินการที่ ตำบลแก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งก็คงจะอยู่ในช่วงเฟสถัดไป

ซึ่งที่ตำบลแก่งเสี้ยน จะต้องได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลด้วยซึ่งในส่วนความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ วันนี้ที่ตำบลแก่งเสี้ยนนั้นพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว ในส่วนของโรงพยาบาล ก็มีโรงพยาบาลอยู่ส่วนหนึ่งแล้วเช่นกัน

จากนี้ไปก็คงจะไม่เกินความคาดหมายที่จะไปดำเนินการที่แก่งเสี้ยนได้ ซึ่งที่ตำบลแก่งเสี้ยน จะมีทั้งในส่วนของ อสม.ครู และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้มาจับมือกันแล้ว ดังนั้นในเร็วๆนี้คงจะได้ไปดำเนินการที่แก่งเสี้ยน และที่แก่งเสี้ยนจะเป็นพื้นที่ต้นแบบ จีดีพี ท้องถิ่นแน่

เพราะฉะนั้นในวันนี้เบื้องต้นเรามองว่าสิ่งที่เราทำในเฟสแรก จะต้องได้รับการอนุญาตจาก อย.และจะเป็นเฟสที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ผลทางการศึกษาอย่างชัดเจนก่อน เพื่อจะเอาไปที่แก่งเสี้ยน แต่แน่นอนว่าจะต้องทำควบคู่ขนานกันไปเพราะแต่ละเฟสจะต้องใช้เวลา 6-7 เดือน หลังจากเฟสแรกสำเร็จเฟสต่อไปก็คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งหลังจากเฟสแรกสำเร็จ เฟสที่ 2 ก็สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เลย

เพราะฉะนั้นมันจะเป็นการดำเนินการและศึกษาวิจัยแบบคู่ขนานกัน เราจะเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญจากการทำในเฟสแรก เพื่อให้เฟสที่สองได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ที่จะสามารถบอกได้เลยว่าจะได้สารสำคัญอย่างไรและได้เท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถที่จะดำเนินการในเฟสที่สองต่อเกี่ยวกับเรื่องคลินิค ในอนาคตได้

ดร.ไพศาล การถาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยต่อว่า สำหรับกัญชาที่จะนำไปปลูกที่ตำบลแก่งเสี้ยน “แก่งเสี้ยน ดิสทริก-กาญจนบุรี โมเดล”กัญชาทุกต้นจะต้องเป็นกัญชาตัวเมียทั้งหมด เพราะต้นกัญชาตัวเมียคือต้นที่เอาไปใช้ทางการแพทย์ได้เท่านั้น และต้นกัญชาตัวเมียเป็นที่มาของดอก เพราะฉะนั้น “แก่งเสี้ยน ดิสทริก-กาญจนบุรี โมเดล”จะพลาดไม่ได้ ถ้าจะพลาดขอให้ทางมหาวิทยาลัยฯเป็นฝ่ายพลาด ซึ่งมหาวิทยาลัยจะพลาดได้ก็เฉพาะในช่วงเฟสแรกเท่านั้น

การปลูกกัญชาในช่วง 1-2 เดือนเราก็จะรู้แล้วว่าต้นไหนคือต้นตัวผู้หรือตัวเมีย เมื่อรู้ว่าต้นไหนเป็นต้นตัวเมียเราก็นำไปปักชำแล้วโคลนิ่งมันเอาไว้ จากนั้นเราจะนำเอาต้นกัญชาตัวเมียที่โคลนนิ่งเอาไว้ไปปลูกที่ตำบลแก่งเสี้ยน นี่คือเหตุผลที่จะต้องดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเป็นเฟสแรก

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฯเองมองว่า อะไรที่จะตกไปถึง อสม.ไปถึงชาวบ้านจะต้องพลาดไม่ได้ ตนมองว่าอะไรที่สามารถควบคุมได้ หรืออะไรที่สามารถทำได้ เราควรต้องทำให้มีความสมบูรณ์ไปก่อน และต้นกัญชาที่จะนำไปที่แก่งเสี้ยนจะต้องเป็นกัญชาต้นตัวเมีย 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.ไพศาล การถาง เผย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระบวนการปลูกกัญชาและวิจัยพัฒนา รวมทั้งกระบวนการสกัดกลั่นกัญชา ในครั้งนี้จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 15 ล้านบาท








กำลังโหลดความคิดเห็น