พิจิตร/พิษณุโลก - มากันตามนัด..เครือข่ายคนต้านเหมืองทองรอยต่อพิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ รวมตัวเดินสายยื่นเรื่องฟัน “สุริยะ” ชี้เคยเซ็นอาชญาบัตรวันเดียว 51 แปลงรวด-ชงข้อเสนอส่อเอื้อบริษัทเปิดเหมืองใหม่ซ้ำ
วันนี้ (6 พ.ย.) นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และ นางอารมย์ คำจริง พร้อมเครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ได้เดินสายเข้ายื่นเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตามมาตรา 151 และ 157 นั้น
ระบุมูลเหตุและพฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ควรเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำความผิดไว้ว่า เนื่องจากพบบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทคิงส์เกต ได้ขุดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และทางสาธารณประโยชน์ อันเป็นการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร ซึ่งไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขุดถนน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้สอบสวนแล้วพบการกระทำความผิดจริง-สรุปความเห็นสั่งฟ้องไปยังอัยการคดีพิเศษแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ทั้งยังพบการขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535, เปลี่ยนแปลงแผนผังและโครงการทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 และการไม่จัดทำ EIA ตาม พ.ร.บ.สิ่งแลดล้อม 2535 ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายไทย และผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตร เป็นหน้าที่ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและเรียกค่าเสียหายทุกกรณี จากบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาชดใช้คืนให้กับประเทศไทย โดยกรณีการขุดถนนเอาทองคำไปโดยผิดกฎหมาย จะต้องเรียกค่าเสียหายถึง 140,000 ล้านบาท ปรากฏตามหนังสือกลุ่มประชาสัมพันธ์กรมปฏิรูปทรัพยากรแร่ทองคำฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2561
ต่อมานายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ลงนามหนังสือฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2562 แจ้งว่า กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้เป็นผู้ดำเนินการแล้ว ซึ่งไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
กระทั่ง 25 กรกฎาคม 2562 และวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ตัวแทน ปปท.และประชาชนได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตฯ ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เรียกค่าเสียหายจากบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท คิงส์เกต ด้วยการเพิกถอนประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่บัญญัติไว้ เนื่องจากบริษัท อัคราฯ ได้ทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตรที่เคยตกลงไว้กับประเทศไทย และยังจะเป็นผลทำให้บริษัทอัคราฯ หรือคิงส์เกต สิ้นสิทธิ ซึ่งเคยได้รับตามกฎหมาย พ.ร.บ.แพร่แร่จากประเทศไทย รวมทั้งติดตามเรียกค่าเสียหายมูลค่า 140,000 ล้านบาท
แต่พบว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ใช้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ออกมาระบุทำนองว่า เรื่องเกี่ยวกับบริษัท คิงส์เกต อยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่เปิดเผยเรื่องการเจรจาหรือเรื่องค่าเสียหายต่างๆ ที่มีการเรียกร้องกันถือว่าเป็นความลับ
การให้สัมภาษณ์บางช่วง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าข่ายลักษณะการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศไทย เช่น กรณีนายสุริยะอ้างว่าถ้ามีการเจรจาหาข้อยุติได้ทั้งสองฝ่ายก็จะเป็นประโยชน์ทำให้รัฐก็ ไม่ถูกฟ้องร้อง-โครงการก็เดินต่อไปได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรที่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ถือเป็นการเจตนาที่จะไม่ดำเนินการเอาผิดกับบริษัท อัคราฯ หรือบริษัท คิงส์เกต
โดยตอนหนึ่ง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ในกรณีที่เราเจรจาแล้วสามารถยุติข้อพิพาทกันได้ตามกระบวนการ เรายังต้องไปขึ้นศาลอนุญาโตหรือไม่ นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้บอกว่าถ้าเกิดหาข้อยุติได้ทั้งสองฝ่าย ก็จะมีการทำข้อตกลงกันได้ เขาก็ถอนฟ้องนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้พูดต่อจากนายวิษณุว่า อนุญาโตที่ตั้งไว้ก็จบกัน
นอกจากนี้ยังมีการเสนอต่อ ครม.ถึงทางออกเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.จ่ายเงินให้กับบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แล้วให้เลิกกิจการไป 2. ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน 3. รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการแล้วปฏิบัติตาม และ 4. หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหายแล้วให้ดำเนินกิจการต่อ
กรณีดังกล่าวนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลับละเว้นไม่นำกรณีที่บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ทำผิดกฎหมายหลายกรณีในประเทศไทย และมีกรณีที่ต้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท อัคราฯ มูลค่าความเสียหาย สูงถึง 140,000 ล้านบาท เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่เสนอ 4 ข้อ ซึ่งเป็นความเสียหายให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากไม่ว่าประเทศไทยจะตกลงในข้อใดก็จะทำให้ประเทศไทยยอมรับว่าได้มีการกระทำความผิดจริงซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายตามมาอีกหลายกรณี
นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่า นายสุริยะทราบดีมาโดยตลอด เนื่องจากเคยเป็น รมว.อุตสาหกรรมมาก่อนหน้านี้ ย่อมเป็นผู้เข้าใจดีทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักปฏิบัติ เรื่องการอ้างว่าให้สิทธิ์สำรวจทองคำเพิ่มเพื่อแลกถอนฟ้องกับบริษัท คิงส์เกตนั้น ก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ
และในอดีตนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นผู้ลงนามอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษไว้ให้กับบริษัท อัคราฯ วันเดียวถึง 51 แปลง พื้นที่มากกว่า 5 แสนไร่ โดยทับซ้อนลงบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนเป็นจำนวนมาก กรณีนี้เคยยื่นเรื่องไว้ต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนในคดีเหมืองทองคำเนื่องจากอาจเป็นนโยบายทุจริตหรือไม่ และยังอยู่ระหว่างสอบสวนมาจนถึงขณะนี้ จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษ ประสงค์ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุดกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157