xs
xsm
sm
md
lg

แล้งหนักรอบ 100 ปี! น้ำโขงนครพนมแห้งขอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพแม่น้ำโขงช่วงไหลผ่านตัวเมืองนครพนม ลดฮวบฮาบจนสันดอนทรายโผล่หลายจุด
นครพนม - นครพนมแล้งหนักสุดรอบ 100 ปี ระดับน้ำโขงลดฮวบเหลือไม่ถึง 1.50 เมตร เกิดสันดอนทรายเป็นบริเวณกว้าง กระทบเดินเรือข้ามโขง อาชีพประมง ทำการเกษตรหน้าแล้งต้นทุนพุ่ง ชี้เป็นสัญญาณอันตราย เสี่ยงระบบนิเวศเสียหาย


วันนี้ (4 พ.ย. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศที่ จ.นครพนม ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นในตอนเช้า สภาพพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระดับน้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดระดับน้ำโขงที่ อ.เมืองนครพนม อยู่ที่ประมาณ 1.50 เมตร ส่งผลให้แม่น้ำโขงบางจุดเกิดสันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งขอดหนักสุดในรอบเกือบ 100 ปี

สาเหตุจากผลกระทบปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำกว่าทุกปี กอปรกับผลกระทบเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของประเทศจีนที่มีหลายแห่งทำให้ระดับน้ำโขงผิดธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าทุกปี บางจุดเกิดสันดอนทรายยาวกว่า 1 กิโลเมตร กระทบต่อการเดินเรือหาปลาของชาวบ้าน ต้องเดินเรืออ้อมหาดทรายเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร






อีกทั้งระดับน้ำตามลำน้ำสาขาเริ่มแห้งขอด ทำให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำโขงต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายวางท่อสูบน้ำ ทำการเกษตรระยะทางไกลขึ้นเพิ่มต้นทุนผลิต และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักขึ้น หากระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงระบุว่า ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่เคยพบมาก่อน ผลกระทบระยะยาวเสี่ยงกระทบอาชีพการเกษตร รวมถึงระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อปัญหาปลาน้ำโขงสูญพันธุ์

นางนวลยงค์ สำรองพันธุ์ อายุ 67 ปี เกษตรกรบ้านดอนนางหงส์ท่า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ว่าปีนี้เป็นปีที่น้ำโขงแห้งมากที่สุด ซึ่งปกติช่วงเดือนตุลาคมอย่างน้อยระดับน้ำโขงจะเหลือประมาณ 1-2 เมตร แต่ปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งขอดเหลือน้ำไม่ถึงเมตร ต้องใช้ท่อส่งน้ำที่มีความยาวท่อนละ 4 เมตร จำนวน 5-6 ท่อน สูบน้ำขึ้นมาใช้ จากเดิมใช้เพียง 2-3 ท่อน ต้องเพิ่มภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย




บางพื้นที่อยู่ติดลำน้ำสาขาไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากลำน้ำสาขาแห้งขอด นอกจากนี้ การเดินเรือหาปลา ยังได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ต้องเดินเรืออ้อมหาดทรายออกไปหาปลาระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ถือเป็นสัญญาณอันตรายวิตก เชื่อว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบหนักต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านเนื่องจากระบบนิเวศจะถูกทำลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น