นครพนม - “ครูแก้ว” ห่วงวิกฤตน้ำโขงแห้งขอด ชี้เป็นปัญหาระดับชาติ ปล่อยไว้เกิดวิบัติแน่ เตรียมหยิบยกเสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียน หลังพบปมปัญหาประเทศที่มีเขื่อนต้นเหตุกักน้ำโขงกระทบคนปลายน้ำ จี้ผู้นำอาเซียนร่วมกันแก้ปัญหา
วันนี้ (4 พ.ย. 62) นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ตนได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหลายจังหวัดภาคอีสานพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง รวมถึงนครพนม พบว่าสภาพความเดือดร้อนจากน้ำโขงแห้งขอดถือเป็นวิกฤตหนักสุดในรอบ 100 ปี จากการสอบถามปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งเร็ว ยังไม่ถึงเดือนมีนาคม แค่เดือนพฤศจิกายนน้ำโขงแห้งจนเกิดสันดอนทรายเป็นบริเวณกว้าง
มีแนวโน้มระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยมาจากภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง และที่สำคัญมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนในประเทศจีน จึงกระทบต่อปลายน้ำทำให้น้ำโขงแห้ง เนื่องจากประเทศจีนมีเขื่อนกั้นน้ำโขงกว่า 10 แห่ง รวมถึง สปป.ลาว อีกหลายแห่ง เป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ สิ่งที่ตามมา คือลำน้ำสาขา ทั้งลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม ลำน้ำก่ำ และอีกหลายสาย ได้รับผลกระทบน้ำแห้งขอด ชาวบ้านขาดแคลนน้ำทำการเกษตร และยังกระทบทำลายระบบนิเวศ แหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงถูกทำลาย อาชีพประมงรายได้ลดลง
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำโขงแห้งตนมองว่าไม่ใช่แค่ผลกระทบจากภัยแล้งทั่วไป แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่ส่อวิกฤตรุนแรงเพิ่มทุกปี หากปล่อยไว้จะนำความวิบัติตามมา ประชาชนพื้นที่ลุ่มน้ำจะเดือดร้อนหนัก ในฐานะตัวแทนชาวนครพนม รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ติดลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสงคราม ลำน้ำสาขาสายหลัก ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปปัญหาความเดือดร้อน ผลกระทบจากการกักเก็บน้ำโขงประเทศจีน เสนอต่อรัฐบาลให้นำเสนอเข้าที่ประชุมผู้นำอาเซียนในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเพื่อหารือร่วมกัน ตนมองว่าปัญหาน้ำโขง ไม่ใช่เพียงปัญหาภายในประเทศ เป็นปัญหาระหว่างชาติที่ถูกปล่อยปละละเลยมานาน ทั้งที่มีกฎหมายระหว่างประเทศกำกับดูแล แต่สุดท้ายกลับปล่อยปละละเลยให้บางประเทศแสวงประโยชน์ ไม่ตรวจสอบดูแล และปล่อยให้กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตนจะได้ผลักดันให้ทางรัฐบาลไทยนำปัญหาน้ำโขงแห้งเข้าที่ประชุมระหว่างชาติที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ไขระยะยาว หากปล่อยไว้เชื่อว่าจะถึงจุดจบของระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติหมดไป ต้องร่วมกันแก้ไขที่ต้นเหตุ ดีกว่าปล่อยไว้แล้วมาแก้ปลายเหตุ สุดท้ายความวิบัติทางธรรมชาติจะตามมา ซึ่งพื้นที่อีสานจะได้รับผลกระทบหนักสุด