ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สนอง “บิ๊กป๊อก” เทศบาลนครโคราชเร่งเดินเครื่องผุด “โรงไฟฟ้าขยะ” 2,000 ล้าน ขณะ “ทภ.2” ไฟเขียวมอบพื้นที่ทหาร 153 ไร่ ตั้งโรงงานโล่งสะดวกไร้ปัญหา เผยล่าสุด มหาดไทยอนุมัติโครงการฯ แล้ว รอเพียง TOR คาดเปิดประมูลได้ ต.ค.-พ.ย.นี้ ทุนเอกชนแห่ตอมนับ 100 ราย
นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ตามนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ว่า ขณะนี้เทศบาลนครนครราชสีมากำลังดำเนินการผลักดันโครงการร่วมลงทุนก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ “โรงไฟฟ้าพลังขยะ” มูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รองรับปริมาณขยะ 500 ตัน/วัน มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 9.3 เมกะวัตต์ เป็นโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้บริหารดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยศูนย์ที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับกำจัดขยะจาก อปท.ในพื้นที่ 3 อำเภอ และแก้ปัญหาขยะที่ตกค้างกองเป็นภูเขาขยะอยู่ขณะนี้กว่า 4.4 แสนตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์จำกัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 1 ได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุในราชการทหาร จำนวน 73 ไร่ ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบผสมผสาน ภายใต้ชื่อ “โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน” ขนาด 230 ตัน/วัน ออกแบบรองรับขยะเทศบาลนครฯ เป็นระยะเวลา 20 ปี ใช้งบประมาณก่อสร้าง 300 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบคัดแยก, ระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ, เครื่องยนต์ก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า และระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล เปิดดำเนินการเมื่อปี 2555 และเริ่มขายไฟฟ้าได้ในปี 2556 ที่ผ่านมา
ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ยังถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ศูนย์ที่ 3 จังหวัดนครราชสีมาด้วย เพื่อให้บริการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ขามทะเลสอ (อ.โชคชัย บางส่วน) จึงมีขยะจากเทศบาลอื่นๆ ในพื้นใกล้เคียงส่งเข้ามากำจัด ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มขึ้นอีก 300 ตันต่อวัน จากเดิมรองรับเฉพาะขยะเทศบาลนครฯ 230 ตัน/วัน ทำให้ปี 2557 เป็นต้นมา มีปริมาณขยะเข้าสู่ระบบรวมมากกว่า 500 ตัน/วัน
ส่งผลให้ขณะนี้ศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลนครฯ มีขยะตกค้างกองเป็นภูเขาอยู่กว่า 4.4 แสนตัน เพราะเกินความสามารถที่ระบบจะรองรับได้ ทำให้ระบบกำจัดที่มีอยู่ชำรุดเสียหาย และพื้นที่ฝังกลบเต็มอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มวิธีการกำจัดขยะที่เหลือจากระบบการกำจัดขยะ ระยะที่ 1 ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตามนโยบายของรัฐบาล
นายบุญเหลือ กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 ดังกล่าว จะเป็นระบบการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีเตาเผาสมัยใหม่ เป็นเตาเผาแบบตะกรับ เผาได้แบบหมดจดถูกหลักวิชาการ โดยจะมีอาคารรับขยะมูลฝอย และเตาเผาแบบบ่อพัก ความจุ 7,000 ตัน (รองรับขยะ 12 วัน ที่ 550 ตันต่อวัน) และมีระบบรวบรวมน้ำเสียจากบ่อพักขยะส่งไปบำบัด ด้วยระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศในโครงการระยะที่ 1 รวมทั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ
มูลค่าลงทุนประมาณ 2,128.25 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 งานระบบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระยะที่ 1 เป็นงานวางท่อรวบรวมน้ำชะจากบ่อพักขยะเข้าระบบหมัก มูลค่าลงทุน 0.80 ล้านบาท และส่วนที่ 2 งานก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เตาเผาใหม่ ประกอบด้วย งานถมดินปรับพื้นที่ 21.30 ล้านบาท อาคารรับและบ่อพักขยะมูลฝาย 180.82 ล้านบาท ระบบเตาเผาและระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า 1,880.15 ล้านบาท อาคารและสิ่งปลูกสร้างสำหรับเครื่องผลิตไฟฟ้า 31.77 ล้านบาท และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ 13.41 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการลงทุน เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะเวลาสัญญา 25 ปี มีรายได้เป็นกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยตรง รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ ในอัตราประมาณ 400 บาท/ตัน จากปัจจุบัน 300 บาท/ตัน ทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ทางการเงิน และเอกชนมีความสนใจที่จะลงทุนเป็นจำนวนมาก ติดต่อเข้ามาแล้วนับ 100 ราย
นายบุญเหลือ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานที่ตั้งโครงการอยู่บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 1 ที่ราชพัสดุในราชการกองทัพบก สนามยิงปืนหนองปรือ กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดย ทภ.2 ได้อนุญาตให้เทศบาลนครฯ ใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะเพิ่มอีกจาก 73 ไร่ รวมเป็น 153 ไร่แล้ว ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องที่ตั้งโครงการอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 นี้จะประกอบกอบด้วย พื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะ บ่อพักน้ำ บ่อสำรองน้ำใช้ และทาง ทภ.2 ยังอนุมัติให้ใช้พื้นที่อีก 50 ไร่ เพื่อเป็นบ่อฝังกลบขยะชั่วคราว และรองรับขยะที่เข้ามาจำนวนมากทุกวัน
ล่าสุด ทางเทศบาลนครฯ ได้รับการอนุมัติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) เพื่อหาผู้รับเหมาเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ ทางเทศบาลนครฯ จะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นข้อตกลงเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้พื้นที่ดำเนินการโครงการฯ
จากนั้นคาดว่าเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จะประกาศหาผู้ลงทุนได้ และใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคาดว่าจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะได้ประมาณปี 2565