xs
xsm
sm
md
lg

เร่ง “บิ๊กป๊อก” 1 เดือน ดึงเอกชนผุด 324 ศูนย์กำจัดขยะครบวงจร 7 พันอปท. เน้นแปรเป็นเชื้อเพลิง-พลังงานไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ เร่ง มท.1 ผุด “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร” 324 ภูเขาขยะทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน พลังงาน-ทส.-สธ.ร่วม เตรียมจ้างเอกชนมาดำเนินการแบบ Outsource ใช้เงิน อปท.-เอกชน ดึงเทคโนโลยีระบบบ่อฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล เตาเผาขยะ หมักก๊าซชีวภาพ แปรขยะเป็นเชื้อเพลิง หรือกำจัดขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

วันนี้ (17 ก.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีข้อสั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่ายงานหลัก ร่วมกันกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยทั้งระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยเร็ว

“ให้เร่งจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,852 แห่ง ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย (Cluster) ทั่วประเทศ (จำนวน 324 กลุ่ม) ภูเขาขยะ 324 ลูก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน”

โดยให้พิจารณาขนาดและที่ตั้งให้เหมาะสมกันสภาพของแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัดตามที่ได้มีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตริในคราวประขุมคณะรัฐมนตรี 24 พ.ค. 59,16 พ.ค. 60 และ 30 พ.ค. 60 เกี่ยวกับการกำหนด มาตรการในการกำจัดขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐ

ทั้งนี้ ข้อสั่งการ 24 พ.ค. 2559 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการในการกำจัดขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐ เช่น การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยกับภาครัฐ การจัดเก็บค่าจัดการขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับปริมาณขยะ

ส่วนข้อสั่งการ 16 พ.ค. 2560 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) เร่งรัดดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยอาจพิจารณาดำเนินการเป็นโครงการนำร่องก่อนในเขตพื้นที่ธุรกิจ เช่น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่กำหนดให้มีการแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทางที่มีการทิ้งขยะกลางทางในส่วนของการขนย้ายขยะ และปลายทางในส่วนของการกำจัดขยะ โดยอาจพิจารณาจ้างเอกชนมาดำเนินการ (Outsource) ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพเก็บขยะไปขายด้วย และนำเสนอผลการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป

ส่วนข้อสั่งการ 30 พ.ค. 2560 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เร่งพิจารณากำหนดมาตรการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำเสนอนายกรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการกำจัดขยะในระบบระบายน้ำในพื้นที่รับผิดชอบให้หมดไปโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาขยะอุดตันช่องทางระบายน้ำและป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เมื่อเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ความร่วมมือในการเก็บและกำจัดขยะให้ถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดดังกล่าว

มีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ให้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายหลังมีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยจำนวน 6 คณะ

“ให้เลือกใช้เทคโนโลยีและเลือกพื้นที่กำจัดขยะที่เหมาะสม ได้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 324 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มขนาดใหญ่ (L) ปริมาณขยะมากกว่า 500 ตัน/วัน จำนวน 10 กลุ่ม 2. กลุ่มขนาดกลาง (M) ปริมาณขยะ 300-500 ตัน/วัน จำนวน 11 กลุ่ม และ 3. กลุ่มขนาดเล็ก (S) ปริมาณขยะน้อยกว่า 300 ตัน/วัน จำนวน 303 กลุ่ม”

ต่อมากระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้เป็นปีแห่งการผลักดันให้ทั้ง 324 กลุ่ม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดบทบาทของท้องถิ่นจังหวัด ให้มีหน้าที่เป็นผู้กำกับทิศทางการกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และนโยบายของรัฐบาล

“กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง เพื่ออำนวยการและผลักดันในระดับนโยบาย แต่งตั้งคณะทำงานผู้บริหาร กสถ.6 คณะ ลงพื้นที่ใน 18 กลุ่มจังหวัดร่วมกับท้องถิ่นจังหวัด และ กำหนดบทบาทท้องถิ่นจังหวัดให้เป็นผู้กำกับการขับเคลื่อนในพื้นที่”

นอกจากนั้นยังปรับปรุงและลดขั้นตอนตามกฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเข้ามาร่วมกับอปท.ในการเข้ามาศึกษาพื้นที่ กำจัดขยะได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี เช่น บ่อฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล เตาเผาขยะ หมักก๊าซชีวภาพ แปรขยะเป็นเชื้อเพลิง หรือกำจัดขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งความพร้อมของบุคลากร และงบประมาณ

มีรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยเคยสรุปปัญหาอุปสรรคของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ประสบปัญหาไม่สามารถก่อสร้างได้งบประมาณกว่า 2,577 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น