xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ คืบหน้าปลูกป่าเขาพระยาเดินธงให้ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ซีพีเอฟนำทีมผู้บริหาร พนักงานจิตอาสาในเครือซีพีกว่า 500 คน สร้างฝายชะลอน้ำและเพาะกล้าไม้เพื่อเตรียมไว้ปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธงอย่างยั่งยืน ภายใต้ "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้
รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบประชารัฐ ในทุกกระบวนการ ทั้งร่วมคิด วางแผน ดำเนินการ และรับประโยชน์ จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือในโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ซึ่งป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ มีเนื้อที่ทั้งหมด 5,971 ไร่ อยู่ใกล้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง
ในอดีตป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่จากการขยายตัวของชุมชน ทำให้ป่าถูกบุกรุกไม้ขนาดใหญ่และมีค่าทางเศรษฐกิจถูกตัดไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีเพียงไม้พุ่ม และวัชพืชขึ้นปกคลุมยากแก่การฟื้นตัวตามธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับการจัดการฟื้นฟูและบำรุงรักษาให้ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
ร่วมมือกันสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมรวม 20 ตัว
นพดล ศิริจงดี
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ทางซีพีเอฟร่วมมือกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและกำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องตามกรอบแผนงาน ซึ่งหากทำสำเร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และยังเป็นการป้องกันน้ำหลากและตะกอนดินที่จะเข้าไปในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
การดำเนินโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการเขาพระยาเดินธง ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในครั้งนี้ ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาจากทั้งซีพีเอฟและบริษัทในเครือซีพี กว่า 500 คน ได้ลงพื้นที่สร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมรวม 20 ตัว เป็นฝายกึ่งถาวร 5 ตัว ในพื้นที่กว่า 2,000 ไร่”
หลังจากทำกิจกรรมในครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2560 ได้สร้างฝายชะลอน้ำ 4 ตัว เป็นฝายกึ่งถาวร 1 ตัว และฝายผสมผสาน 3 ตัว มีการวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูก 57 ไร่ โดยใช้ถังขนาด 1,000 ลิตร เป็นที่พักน้ำ และให้ทีมวิศวกรซีพีเอฟมาซ่อมบำรุงระบบน้ำและแผงโซล่าเซลล์ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ขึ้นถังพักน้ำ ผลจากระบบน้ำหยดมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการกำจัดวัชพืช ในแปลงปลูก 57 ไร่ ทำให้ต้นไม้มีอัตรารอดสูงถึง 90% การเพาะกล้าไม้ จำนวน 200,000 กล้า นำมาจัดเรียงไว้เรือนเพาะชำพร้อมสำหรับการปลูกในช่วงฤดูฝนนี้ ส่วนของการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ระบบสุขาภิบาล มีความคืบหน้าแล้ว 80%”
นพดล เล่าว่าเดิมทีป่าเขาประยาเดินธง เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ต่อมาเกิดการขยายตัวของชุมชน รวมถึงการให้สัมปทานป่าไม้ สภาพป่าในวันนี้จึงเสื่อมโทรม ในการดำเนินโครงการฯ นี้ เราจึงเริ่มตั้งแต่การเข้าสำรวจพื้นที่ ทางน้ำ รวมไปถึงพันธุ์ไม้ประจำถิ่น เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูให้สมบูรณ์เหมือนในอดีต จึงเริ่มต้นจากการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในป่า หลังจากนั้นในฤดูฝนจะนำพันธุ์ไม้ที่เพาะในโรงเพาะมาปลูก
ในเรื่องการเตรียมพันธุ์ไม้สำหรับปลูก จะเน้นไปที่พันธุ์ไม้ที่เคยมีอยู่เดิมในป่าเขาพระยาเดินธง เช่น ประดู่ป่า แดง พฤกษ์ มะหวด มะกอกป่า เพราะต้องการที่จะเลียนแบบป่าเดิมให้ได้มากที่สุด ใช้เวลาเตรียมพันธุ์ไม้ประมาณ 1 ปี พันธุ์จึงจะพร้อมสำหรับการปลูก เริ่มจากการเตรียมเมล็ดเพื่อให้ง่ายต่อการเพาะในที่ร่ม เมื่อต้นไม้เริ่มโตมีใบเลี้ยงแล้วจะนำมาชำ หลังจาก 8 เดือนแล้ว กล้าไม้ถึงจะสามารถรับแสงแดดได้อย่างเต็มที่

เตรียมการเพาะกล้าไม้ จำนวน 200,000 กล้า นำมาจัดเรียงไว้เรือนเพาะชำพร้อมสำหรับการปลูกในช่วงฤดูฝนนี้
วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์
ด้าน วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เล่าถึงโครงการฯ ที่เริ่มต้นตามภารกิจสร้างความยั่งยืนโดยมีเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม คือ ให้ดินน้ำป่าคงอยู่ “ธุรกิจของซีพีเอฟมีการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหาร สิ่งสำคัญเราต้องดูถึงผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการผลิตอาหาร ทรัพยากรป่าและน้ำซึ่งมีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอาหารมาก จึงร่วมหารือกับกรมป่าไม้ว่าควรจะเริ่มต้นดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ส่วนใดถึงเหมาะสมที่สุด 
วันนี้มีเป้าในการดำเนินการฟื้นฟูป่าเขาประยาเดินธง จำนวน 4,421 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรของชาติ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระหว่างปี 2559 - 2564 นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดของประเทศ ภายใต้โครงการซีพีเอฟ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ตลอดจนดำเนินงานเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและรอบสถานประกอบการทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
ถ้าความร่วมมือในโครงการนี้สำเร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำ และเป็นการป้องกันน้ำหลากและตะกอนดินที่จะเข้าไปในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และหากเพิ่มต้นไม้ได้มากขึ้นก็จะสามารถเพิ่มการดูดซับคาร์บอนมากขึ้น รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่ในป่า ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการที่ป่าฟื้นฟู โดยซีพีเอฟมีแผนที่ในการปลูกสมุนไพร”
“ซีพีเอฟ มุ่งหวังว่าหลังจากการฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธง ก็จะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อการดูแลผืนป่า ให้เยาวชนมองเห็นคุณค่าของป่า นอกจากนี้ ต้องการให้ผืนป่าเขาพระยาเดินธง มีความยั่งยืน และเป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคต”
วุฒิชัย กล่าวอีกว่า “ในแต่ละปีจะมีจัดกิจกรรมตลอด ซึ่งนอกจากซีพีเอฟให้การสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ติดตาม และประเมินผล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ถือเป็นความสำเร็จของโครงการคือความร่วมมือของคนในเครือซีพี รวมไปถึงความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ และชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาที่อยู่ในพื้นที่ ต่างเข้ามาร่วมมือ เพราะทุกคนเห็นคุณค่าของผืนป่า”
ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และหน่วยงานที่ปรึกษา จะร่วมกันประเมินผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ โดยทำการประเมินผลการฟื้นตัวของพื้นที่ป่าไม้ การกักเก็บคาร์บอน การให้บริการเชิงนิเวศ และผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่โครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น