ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตามส่องเส้นทางโรงไฟฟ้าขยะชุมชนตะวันออก กลุ่มการเมืองใหญ่ระยอง ดึงเครือ ปตท.ร่วมกวาดขยะทั้งจังหวัดป้อน แต่ยังมีอ้อน “บิ๊กตู่” ของบเพิ่ม ขณะที่เมืองชลฯ แป้กยาวมาตั้งแต่ปี 58 แม้เจอส่อปัญหาขยะล้น
ภายใต้นโยบายขยะแสนล้าน ที่ดูเหมือนกลายเป็นนโยบายแห่งชาติไปแล้ว รัฐบาล คสช. โดยกระทรวงมหาดไทย ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เร่งรัดแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะชุมชน ผ่านหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทุกพื้นที่นั้น
โรงไฟฟ้าขยะชลบุรี ชะงักยาวตั้งแต่ปี 58
โดยในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น นายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี บอกว่า สถานการณ์ขยะของชลบุรีขณะนี้เริ่มมีปัญหา ทำให้ที่ผ่านมาทางจังหวัดต้องประกาศให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1เทศบาลฯ และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ อ.ศรีราชา ซึ่งมีขยะประมาณวันละ 585 ตัน
กลุ่มที่ 2 คือ เมืองพัทยา ท้องถิ่นอำเภอบางละมุงและสัตหีบ มีปริมาณขยะ 850 ตันต่อวัน โดยเมืองพัทยาเป็นเจ้าภาพหลักในการกำจัดขยะ และจะสร้างโรงกำจัดขยะไร้มลพิษ
กลุ่มที่ 3 เขต อ.เมืองชลบุรี และพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ จำนวนขยะ 625 ตันต่อวัน
กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย 6 อำเภอ คือ พนัสนิคม บ้านบึง พานทอง หนองใหญ่ บ่อทอง และเกาะจันทร์ มีปริมาณขยะรวม 550 ตันต่อวัน โดยพื้นที่บ้านบึงเป็นผู้รับผิดชอบ
และกลุ่ม 5 คือ เกาะสีชัง ซึ่งมีขยะประมาณ 10 ตันต่อวัน
นายเชาวลิตร ย้ำว่า เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะของชลบุรี คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขยะด้วยการเผาแทนการฝังกลบที่เป็นไปได้ยากแล้ว เนื่องจากที่ดินที่จะใช้ในการฝังกลบขยะมีราคาแพง และถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้โรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ชลบุรี ที่มีขยะตกค้างหลายล้านตัน ก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้
โดยเมื่อปี 58 ที่ผ่านมา บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าขยะใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่มีประสบการณ์ในด้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ได้เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ขนาดกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ม.2 บ้านเขาไผ่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง วางแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 18 เดือน
นายจิรวุฒิ สิงโตทอง อดีต ส.ส.จังหวัดชลบุรี รวมทั้งตัวแทนของบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านหมู่ 1-12 ต.หนองอิรุณ รวมทั้งสมาชิกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 528 คะแนน และไม่เห็นด้วยเพียง 19 คะแนน ทำให้ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในสมัยนั้น ไม่อนุมัติให้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะถือว่ายังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ 100% เต็ม
นายชำนัญ ศิริลักษณ์ แกนนำชาวบ้าน ต.หนองอิรุณ บอกว่า เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ เพราะเชื่อว่าไม่โปร่งใสตั้งแต่เริ่มการทำประชาพิจารณ์ เช่น ไม่ส่งแบบโครงการให้ชุมชนได้รับทราบ ไม่มีการบอกกล่าวถึงกรรมวิธีการใช้เครื่องจักรกลในการทำงาน รวมทั้งพื้นที่ตั้งโครงการที่ชัดเจน ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ไม่มีการกำหนดเวลาล่วงหน้า 15 วัน จึงทำให้ข้อมูลซักถามและการตอบคำถามไม่มีความชัดเจน ที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาขยะไม่ได้ระบุว่ามีการคัดแยกตามมาตรฐาน
อบจ.ระยอง ดึง ปตท.ผุดโรงไฟฟ้าขยะ อ้อน “บิ๊กตู่” ของบเพิ่มอีก
ส่วนที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2559 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) ในเครือข่ายกลุ่ม ปตท. ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเป็นพลังงาน ซึ่งตามแผนงานจะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร” ในเนื้อที่ 429 ไร่ พื้นที่ ต.น้ำคอก รองรับขยะที่มีเฉลี่ยวันละ 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล ต.ทับมา อ.เมืองระยอง และ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา บางส่วน
ระยะแรก อบจ.ระยอง มีเป้าหมายในการส่งขยะมูลฝอยให้ ปตท.วันละ 500 ตันต่อวัน เพื่อคัดแยกขยะสด และขยะอินทรีย์ นำขยะสดแปลงเป็นเชื้อเพลิงแห้ง หรือ Refuse Derived Fuel (RDF) ขนาดความกว้าง 5-8 ซม. มีค่าความร้อนประมาณ 4,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม สามารถนำไปผลิตพลังไฟฟ้าได้ 6-9 เมกะวัตต์ เทียบได้กับการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้ถึง 1,500-2,000 หลังคาเรือน ส่วนขยะอินทรีย์ จะถูกนำเข้าสู่ระบบปุ๋ยหมัก ขณะที่น้ำเสียก็จะบำบัดก่อนระบายลงสู่ลำธารสาธารณะ
พร้อมกันนั้น อบจ.ระยอง ยังได้เชิญองค์ปกครองท้องถิ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการขนส่งขยะจากทุกพื้นที่เข้าศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะในราคาตันละ 400 บาท
ล่าสุด เมื่อ 4 ก.ค.61 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์กำจัดขยะ และโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ต.น้ำคอก อ.เมืองระยอง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เข้าร่วม
โอกาสนี้ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล เนื่องจากหลุมฝังกลบขยะที่ 4 ใกล้จะเต็ม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายสนธยา ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หารือกับนายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการแก้ไขระเบียบ และกระบวนการเบิกจ่ายงบที่ล่าช้าด้วย