ภาคกลาง - อปท.ทั่วประเทศเด้งรับนโยบายผุดโรงไฟฟ้าขยะ-โรงไฟฟ้าชีวมวล กลางกระแสต้านที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ล่าสุด คนเมืองเพชรฯ จ่อฟ้องปิดบ่อเก่า ต้านทุนขยะ หลังถูกข่มขู่ สกัดยื่นร้อง “บิ๊กตู่” ขณะที่อ่างทอง กวาดขยะ 3 จังหวัดรอรับเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรัฐบาล คสช.ได้ประกาศจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และอื่นๆ กับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโรงไฟฟ้า โดยมีรัฐบาลกำกับ
ล่าสุด มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รายงานสถานะโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า ว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตรวม 53 โครงการ รวมกำลังผลิตประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่ยังมีหลายพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะได้อีก 324 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่มีขยะมูลฝอยเกินกว่า 500 ตัน/วันขึ้นไป รวม 10 กลุ่ม กลุ่มที่มีขยะมูลฝอยตั้งแต่ 300-500 ตัน/วัน จำนวน 11 กลุ่ม และกลุ่มที่มีขยะมูลฝอยน้อยกว่า 300 ตัน รวม 303 กลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ในความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ ก็มีกระแสคัดค้านจากชาวบ้านทุกพื้นที่เช่นกัน
คนเพชรบุรี จ่อฟ้องศาลปกครองกันยายนนี้ จี้ปิดบ่อขยะเก่า ล้มโรงไฟฟ้าทุนใหญ่
ขณะที่จังหวัดเพชรบุรี เป็น 1 ใน 5 จังหวัดของไทยที่มีขยะสะสมตกค้างมากถึง 1.2 ล้านตัน และมีขยะเกิดขึ้นใหม่วันละ 521 ตัน แต่ด้วยยังขาดงบประมาณ และสถานที่ที่เหมาะสมในการกำจัดขยะอย่างครบวงจร จึงส่งผลให้จำเป็นต้องขนส่งขยะบางส่วนออกไปกำจัดที่กาญจนบุรีนั้น
พบว่า บริษัทดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด (WPP) ได้เข้ามาเช่าพื้นที่บ่อขยะเก่าจาก ดร.ปรีดา หวานใจ เจ้าของที่ดินเอกชน เป็นระยะเวลา 30 ปี และจัดตั้งบริษัทดับเบิลยูพี กรีนเอ็นเนอจี จำกัด (WPGE) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ที่ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อดำเนินโครงการให้สอดคล้องต่อแผนบริหารจัดการขยะเพชรบุรี โดยการขุดขยะเก่าในบ่อที่เปิดดำเนินการมากว่า 10 ปี มีขยะสะสมกว่า 3 แสนตัน ขึ้นมาผสมขยะใหม่ที่เข้ามาทุกวัน และนำไปผลิตไฟฟ้า ขนาด 7.5 เมกะวัตต์
บริษัทได้ลงนามสัญญาบริหารจัดการขยะ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 32 แห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทย จะเป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมลงทุน คาดว่าจะสร้างโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าเสร็จ และสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ.2561
ด้าน นายกัมพล วัดหนู ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ยืนยันว่า พวกเราชาวท่าแลง ทุกหมู่บ้านส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการให้เกิดโรงงานแปรรูปขยะในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้านมากพอแล้ว ขยะที่มีอยู่เดิม และมีการนำมาทิ้งทุกวันนี้ รวมประมาณ 4 แสนตัน ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ มีเพียงการนำมากองสุมกันทุกๆ วัน บนที่ทิ้งขยะของเอกชน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าได้รับอนุญาตให้มีการนำขยะมาทิ้งหรือไม่
“มีการนำขยะมาทิ้ง 7- 8 ปีแล้ว ชาวบ้านคัดค้านมาตลอด บ่อขยะดังกล่าวก็ยังทิ้ง ไม่มีระบบคัดแยก ที่ตั้งบ่อขยะอยู่บนเชิงเขามีลำห้วย และแม่น้ำอยู่ใกล้เคียง ฝนตกน้ำเสียก็ชะล้างขยะลงแม่น้ำเพชรบุรี ชาวบ้านแถบนี้ใช้น้ำประปาจากน้ำบาดาลผิวดินที่ปนเปื้อนจนได้รับผลกระทบ ร้องเรียนไปทุกระดับก็ไม่มีการเหลียวแลจากภาครัฐ ผ่านมาแล้วหลายผู้ว่าฯ หลายนายอำเภอ ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองในต้นเดือนกันยายนนี้”
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด ยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาขออนุญาตกำจัดขยะเพิ่มอีก ในพื้นที่หลังวัดเขาทะโมน ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ด้วย
ขณะที่ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยร่วมกันร่างหนังสือร้องเรียนว่า พื้นที่ของบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ที่ขอใช้เป็นโรงงานกำจัดขยะนั้นมิได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยในจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2559-2560 และแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเพชรบุรี ปี 2558-2562
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมให้เหตุผลประกอบว่า โรงงานแปรรูปขยะเป็นกระแสไฟฟ้าที่อยู่เดิม 1 โรง ที่ อ.ท่ายาง มีกำลังความสามารถสูงกว่าปริมาณขยะภายใน จ.เพชรบุรี ที่มากเพียงพออยู่แล้ว
แต่ประชาชนที่ลงชื่อคัดค้านในครั้งนั้นกลับถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เกิดความหวาดกลัว ชาวบ้านหวังว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดจน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะสามารถคลี่คลายปัญหาในเรื่องนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายใหญ่โตได้ เพราะในอนาคตอาจเกิดปัญหาเรื่องมลพิษ โดยมีต้นเหตุมาจากการบริหารจัดการขยะของบริษัทที่ขาดคุณสมบัติ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล
ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เตรียมนำหนังสือร้องเรียนที่ร่วมกันร่างขึ้นนี้ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร จ.เพชรบุรี เมื่อ 6 มี.ค.61 ที่ผ่านมา แต่กลับถูกข้าราชการ ผู้นำชุมชนกีดกัน โดยเลือกกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโรงงานดังกล่าวเข้าต้อนรับคณะของนายกฯ รวมทั้งยังพยายามกีดกันกลุ่มที่ได้รับผลกระทบออก เพื่อไม่ให้ยืนหนังสือดังกล่าว
อ่างทอง เริ่มเดินเครื่องสนองนโยบายโรงไฟฟ้าขยะ
ส่วนที่อ่างทอง ล่าสุดพบว่า เทศบาลเมืองอ่างทอง และองค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช ร่วมกับบริษัท สยาม เวสท์ เพาเวอร์ จำกัด ได้เริ่มโครงการบริหารขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ตาม Road Map แล้วเช่นกัน
นายอเนก ทองชื่นจิต รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทอง มีพื้นที่ 89 ไร่ 3 งาน 7ตารางวา ได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างระบบมูลฝอยแบบฝังกลบ วงเงิน 80,000,000 บาท จากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สร้างเสร็จเมื่อ 9 ก.ย.43
เมื่อ 26 ส.ค.57 คสช.เห็นชอบ Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยปิดบ่อฝังกลบที่ไม่ถูกต้องในจังหวัดอ่างทอง จำนวน 11 บ่อ ทางเทศบาลฯ ยังได้ทำบันทึกข้อตกลง กับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่อ่างทอง 64 แห่ง พื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี 16 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 10 แห่ง มีปริมาณขยะ เฉลี่ยจำนวน 120 ตันต่อวัน นำมากำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะฯรวมเทศบาลเมืองอ่างทอง เมื่อ 6 พ.ย.58 ด้วย
ล่าสุด ณ ขณะนี้ทางเทศบาลฯ กำลังขับเคลื่อนโครงการ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะและของเสียอันตรายชุมชนให้กับชุมชน เพื่อเดินหน้าโครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF ต่อไป