xs
xsm
sm
md
lg

สาวลึก ปมตำหนักใหม่พระองค์ดำจากนิมิตค่า 80 กว่าล้าน ก่อนโดนต้านรอวันรื้อ-ย้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เปิดบันทึก “พระตำหนักพระองค์ดำ (ใหม่)” ตำหนักจากนิมิต มูลค่ากว่า 80 ล้าน แก้แบบไม่หยุด-กว่า 3 ปีสร้างไม่เสร็จ กลายเป็นทัศนอุจาดเขตโบราณสถาน “พระราชวังจันทน์” กระแสต้านลาม-รอวันรื้อย้ายใหม่


เรื่องราวการก่อสร้าง “พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบดบัง “ศาลสมเด็จพระองค์ดำ (เดิม)” ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศเคารพสักการะ อีกทั้งการก่อสร้างยังคาราคาซังจนกลายเป็นทัศนอุจาด และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น

แกะรอยตำหนักแห่งนิมิตค่ากว่า 80 ล้านกลางวังจันทน์
จากเอกสารโครงการฯ ระบุไว้ว่า แนวคิดการก่อสร้างโครงการนี้มาจากพระเถระรูปหนึ่งในวัดชื่อดังของเมืองพิษณุโลกนิมิตเห็น แล้วนำปรึกษากับ พลเอก สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 ในสมัยนั้น ว่าศาลเดิมดูแล้วไม่สมพระเกียรติ เหมือนศาล จึงมีแนวความคิดจะสร้างพระตำหนัก

จากนั้นได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล “รุ่นอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์” เพื่อหาทุนมาก่อสร้าง โดยมีทุนยืมจากพระวัดใหญ่จำนวน 6 ล้านบาท และเงินบริจาครายอื่นๆ รวมเป็น 1.43 ล้านบาท คาดว่าถ้าจำหน่ายวัตถุมงคลหมดจะได้ยอดเงิน 84 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายนั้นเป็นค่าวัตถุมงคล 29 ล้านบาท, ค่าพุทธาภิเษก 1.6 ล้าน, ค่าเช่าสถาน ฯลฯ รวม 54 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะมีกำไรนำไปดำเนินการก่อสร้างใน 13 แผนงาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท


3 ปีสร้างไม่เสร็จ-แก้แบบไม่หยุด จนเกิดทัศนอุจาด
การวางเสาเอกก่อสร้างตำหนักพระองค์ดำ (ใหม่) เริ่มเมื่อ 3 ต.ค. 58 โดยงบประมาณ 43 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบริจาคหรือบูชาพระ 23 ล้านบาท ที่ใช้ก่อสร้างโครงสร้างเหล็กเป็นหลัก ซึ่งทหารกองทัพภาคที่ 3 ได้งานไปดำเนินการจนแล้วเสร็จ ส่วนงบประมาณอีก 43.7 ล้านบาท เป็นงบประมาณกลุ่มจังหวัด ซึ่งยังไม่ได้เบิกจ่ายตามงวด โดยมีสำนักศิลปากรที่ 6 เป็นผู้ควบคุมดูแล บริษัทเอกชนที่ได้ประมูลงานและทำสัญญาไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงแบบรอการตกแต่งก่อสร้างภายใน

แต่ตลอดการก่อสร้างตำหนักพระองค์ดำ (ใหม่) กลับมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบกันต่อเนื่องถึง 6 แบบ และด้วยระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้นนับจากวางศิลาฤกษ์จนถึงปัจจุบันกว่า 3 ปี ทำให้คนที่ไปสักการะศาลสมเด็จพระองค์ดำแคลงใจ เมื่อเห็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่สร้างไม่เสร็จบดบังศาลเดิม จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้น

โดยภาคประชาชน และศิษย์เก่า พ.พ. รวมถึงคนพิษณุโลก ในนามกลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวร ประกาศไม่เอาตำหนักใหม่ ต้องการฟื้นฟูกลับสภาพเดิม ตระเวนยื่นหนังสือต่อกองทัพภาคที่ 3 คนใหม่, ผู้ว่าฯ และอธิบดีกรมศิลปกร เรียกร้องให้รื้อ-ทุบ-ย้ายตำหนักหลังใหม่ออกไป

ครั้งนั้นนางสาวดวงกมล ยุทธเสรี ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บอกเพียงว่า กรมศิลป์ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกแล้ว แต่สุดท้ายมีบริษัทเอกชนได้ประมูลงานตกแต่งภายในอาคารพระตำหนักหลังใหม่ไป เพียงแต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายสักงวดเนื่องจากรอแก้ไขแบบ

พลโทวิจักฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 , นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก , นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้เปิดประชุมด่วน หาทางออกปัญหาตำแหน่งใหม่พระองค์ดำ
พ.อ.เชาว์ เกตุดี ประธานชมรมศิษย์เก่า พ.พ.14-16 และประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ และนายมนตรี ศรีภิรมย์ เลขานุการชมรมเรารักศาลสมเด็จฯ รวมทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (โรงเรียนชาย) ที่ได้รวมตัวบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่บดบังทัศนียภาพศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่างยืนยันให้อนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม

กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยระบุว่า สิ่งปลูกสร้างใหม่ใช้คำว่า “พระตำหนัก” นั้นไปลบล้างคำว่า ศาลฯ เดิมที่มีความหมายถูกต้อง และปรากฏในพระบรมราโชวาท รัฐพิธีเสด็จฯ ทรงเปิดศาลฯ 25 มกราคม พ.ศ. 2505 อีกทั้งสร้างทับบนโบราณสถานอันเป็นการละเมิด พ.ร.บ.โบราณสถาน 2504 และบดบังเบื้องหน้า ก่อให้เกิดปัญหาทัศนอุจาดต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กระทบกระเทือนจิตใจประชาชนที่เคารพนับถือกันมายาวนานกว่า 56 ปี และการออกแบบพระปรางค์บริเวณเครื่องบน น่าจะถอดแบบมาจากวัดใหญ่ แต่ไม่ใช่ศิลปะของอยุธยา

“ไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างศาลหรือพระตำหนักพระนเรศวรหลังใหม่ เนื่องจากศาลพระนเรศวรหลังเก่าอยู่คู่กับเมืองพิษณุโลกมากว่า 55 ปี ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลด้วย ส่วนหลังใหม่จะรื้อ หรือย้ายไปไว้ตรงไหนก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องไม่บังศาลเก่า”


ตำหนักใหม่..รอวันรื้อย้ายอีกรอบ
วันที่ 25 พ.ค. 61 นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก, นางสาวดวงกมล ยุทธเสรี ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 พร้อมตัวแทนหน่วยงานราชการ ภาคประชาชน เช่น อ.ขวัญทอง สอนสิริ ฯลฯ ร่วมหาทางออก ก่อนรวบรวมข้อเสนอแนะให้รื้อสิ่งปลูกสร้างใหม่ นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 นำเสนออธิบดีกรมศิลปากร ว่าชาวพิษณุโลกเห็นควรรื้อและย้ายสิ่งก่อสร้างใหม่ (ตำหนักใหม่)

ล่าสุด 13 ก.ค.ที่ผ่านมา พลโท วิจักฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3, นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก, นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้เปิดประชุมด่วน ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 อีกครั้ง แต่ไม่ได้แจ้งสื่อมวลชน ก่อนลงดูพื้นที่จริง และเดินทางไปกราบนมัสการพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ / รองเจ้าคณะภาค 5

แหล่งข่าวระดับสูงระบุแนวทางแก้ปัญหาวางไว้เบื้องต้น 3 แนวทาง คือ 1) รื้อ ทุบทิ้ง 2) รื้อ ย้าย วางไว้เป็นรูปเกือกม้ารอบศาลเดิม 3) เลื่อน เคลื่อนย้ายตำหนักใหม่ไปไว้หลังศาลสมเด็จพระนเรศวร แต่ทางแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าฯ พิษณุโลก และอธิบดีกรมศิลปากร เห็นพ้องเลือกแนวทางการรื้อ ย้ายสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยนำไปไว้ด้านข้างและหลังศาลฯ (เดิม) ในลักษณะเป็นรูปเกือกม้า ส่วนงบประมาณงบตกแต่งภายในยังต้องคงไว้ แต่งบประมาณค่ารื้อ-ย้ายนั้นกรมศิลปากรและกองทัพภาคที่ 3 กำลังดำเนินการ


แนะขึ้นทะเบียนศาลสมเด็จฯ เป็นโบราณสถาน
ปราชญ์ชาวพิษณุโลกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้างมากว่า 56 ปีแล้ว แต่กรมศิลปากรไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาคารศาลสมเด็จฯ เป็นโบราณสถาน แม้อยู่ใจกลางพระราชวังจันทน์ ดังนั้นกรมศิลปากรก็ควรขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยเหมือนกับพระราชวังจันทน์ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก

“แม้ว่าอาคารศาลสมเด็จฯ อายุไม่ถึง 100 ปี แต่เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองมากว่าครึ่งศตวรรษ พร้อมกับควรตั้งงบมาจัดถวายด้วยการบูรณะตัวอาคารศาลฯ ทั้งภายในและภายนอกให้สมพระเกียรติ”

ส่วนจังหวัดฯ และ อบจ.พิษณุโลกที่รับถ่ายโอนดูแลพระราชวังจันทน์ พร้อมกับมูลนิธิเย็นศิระพระบริบาล ก็ควรลงมาดูแลรายละเอียด พร้อมกับตั้งงบบูรณะศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามแบบที่ผ่านความเห็นชอบด้านศิลปกรรมจากกรมศิลปากรไปพร้อมๆ กันด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น