xs
xsm
sm
md
lg

ยืนคนละมุม! ทภ.3 เดินหน้า ‘ตำหนักใหม่พระองค์ดำ’ คนค้านจ่อยื่นศาล ปค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ไม่ทุบ-ไม่รื้อ..รองแม่ทัพภาคที่ 3 ลั่นเดินหน้า “ศาลสมเด็จพระนเรศวรหลังใหม่” ต่อ ออกหน้าเคลียร์มวลชน ขณะที่คนค้านย้ำเจตนารมณ์ขอคืน “ศาลฯ พระองค์ดำหลังเดิม” พร้อมลงขันจ่อยื่นศาลปกครอง


ส่อร้อนระอุต่อเนื่อง..สำหรับโครงการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ อ.เมืองพิษณุโลก (หลังใหม่) ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการนำนิมิตของพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดใหญ่ หารือผ่าน พลเอก สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 (ในขณะนั้น) ว่าศาลเดิมดูแล้วไม่สมพระเกียรติ จึงมีแนวความคิดจะสร้างพระตำหนัก พร้อมจัดสร้างวัตถุมงคล “รุ่นอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์” เพื่อหาทุนมาก่อสร้าง

โดยมีทุนยืมจากพระผู้ใหญ่ (วัดใหญ่) 6 ล้านบาท และเงินบริจาครายอื่นๆ อีก วางแผนถ้าจำหน่ายวัตถุมงคลหมดจะได้ยอดเงิน 84 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายนั้นเป็นค่าวัตถุมงคล 29 ล้านบาท, ค่าพุทธาภิเษก 1.6 ล้าน, ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ รวม 54 ล้านบาทเศษ นำกำไรไปดำเนินการก่อสร้างใน 13 แผนงาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ดังนี้
1. การก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์
2. การสร้างหอพระบริเวณสระสองห้อง
3. การปรับปรุงอาคารอนุรักษ์ 1
4. การปรับปรุงอาคารอนุรักษ์ 2
5. การสร้างลานจอดรถ
6. ประตูทางเข้า
7. การก่อสร้างป้ายทางเข้า
8. การสร้างเส้นทางจักรยาน
9. การปรับปรุงอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ ภายนอกและการจัดแสดงนิทรรศการภายใน
10. ป้ายโบราณสถาน
11. การสร้างร้านจำหน่ายสินค้า
12. การสร้างห้องน้ำ
13. ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์

จากนั้นได้เริ่มวางเสาเอกก่อสร้างพระตำหนัก เมื่อ 3 ตุลาคม 2558 ในวงเงิน 43 ล้านบาท โดยทหารกองทัพภาคที่ 3 ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหลักๆ แล้วเสร็จในวงเงิน 23 ล้านบาท ส่วนงบประมาณอีก 20 ล้านบาทกลุ่มจังหวัดเป็นผู้ควบคุม ซึ่งยังไม่ได้เบิกจ่ายตามงวด โดยมีสำนักศิลปากรที่ 6 เป็นผู้ควบคุมดูแล บริษัทเอกชนที่ได้ประมูลงานและทำสัญญาไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงแบบรอการตกแต่งก่อสร้างภายใน

ด้วยความล่าช้ากว่า 3 ปีของการก่อสร้างพระตำหนักใหม่ นับจากปี 58-61 ทำให้ประชาชนทั่วไปที่นิยมไปสักการะศาลสมเด็จฯ ต่างแคลงใจ ขณะที่ศิษย์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (พพ.) ที่เคยเสียสละย้ายโรงเรียนออกไปเพื่ออนุรักษ์กำแพงโบราณ เขตโบราณสถานพระราชวังจันทน์ ต่างไม่พอใจเมื่อเห็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ไปบดบังศาลเดิม


แต่เนื่องจากปี 58 เพิ่งผ่านพ้นการปฏิวัติยึดอำนาจของทหารหมาดๆ เพียงแค่ชุมนุมเกิน 5 คนยังผวา ฉะนั้นห้วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีใครกล้าออกมาเคลื่อนไหว เพราะรู้ดีว่าอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแกนหลักกระทำพิธีปลุกเสกพระ รุ่นอนุรักษ์วังจันทน์หลายรอบ ส่วนคนวงการพระเครื่องก็ทราบดีว่าพระรุ่นอนุรักษ์วังจันทน์ ดังกระหึ่ม อาทิ เหรียญทองคำจากที่เปิดจองราคาเพียง 4 หมื่นบาท คนพลาดจองเสนอขอเช่าบูชาต่อจะต้องสู้ราคาที่เหรียญละแสนบาท ช่วงนั้นแทบไม่มีใครอยากปล่อยออกเพราะสร้างไม่ถึง 200 เหรียญ

แต่ ณ ขณะนี้ทั้งเหรียญและราคาไม่ต้องพูดถึง..!!

กระทั่งล่าสุด ศิษย์เก่า พพ. และคนพิษณุโลก ในนาม “กลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวร” ประกาศเจตนาเรียกร้องให้คงศาลสมเด็จฯ หลังเดิม ฟื้นฟูกลับสู่สภาพ ต้องไม่มีพลับพลา-พระตำหนักหลังใหม่มาบดบัง ซึ่งได้ยื่นหนังสือต่อกองทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าฯ กรมศิลปกรไปแล้ว รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียอย่างหนัก เพราะไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ สร้างทับเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งอยู่ในแนวเขตพระราชวังจันทน์ อ.เมืองพิษณุโลก

อ.ขวัญทอง สอนศิริ อาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พิษณุโลก ผู้คร่ำหวอดงานพิธีต่างๆ และวงการพระเครื่องในพิษณุโลก ระบุว่า สิ่งก่อสร้างใหม่เป็นสิ่งแปลกปลอม บังเกิดแก่ “พระบรมราชานุสาวรีย์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( สถานที่พระบรมราชสมภพ พ.ศ. 2098 ) ที่มีรัฐพิธี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลฯ และสังเวยพระบรมราชานุสาวรีย์ 25 มกราคม พ.ศ. 2505 โดยที่ศาลสมเด็จฯ อยู่คู่เมืองพิษณุโลกมากว่า 55 ปี รัฐบาลเป็นผู้สร้าง คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ ต่อมาประกาศเป็นโบราณสถาน พระราชวังจันทน์ พ.ศ. 2536

กลุ่มคนพิษณุโลกอนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงไม่เห็นด้วยกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ ต้องรื้อ หรือย้ายเท่านั้น

นางสาวดวงกมล ยุทธเสรี ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บอกเพียงว่า กรมศิลป์ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกแล้ว แต่ล่าสุดกลับมีบริษัทเอกชนได้ประมูลงานตกแต่งภายในอาคารพระตำหนักหลังใหม่ เพียงแต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายสักงวดเนื่องจากรอแก้ไขแบบ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมมา พล.ต.สุภโชค ธวัชพีระชัย รองแม่ทัพภาคที่ 3 ยืนยันว่า นับจากนี้ทางกองทัพภาคที่ 3 จะเป็นหน่วยงานหลักที่สร้างความเข้าใจ-แจงสื่อต่างๆ ถึงการก่อสร้างศาลฯ พระองค์ดำหลังใหม่ ขณะที่จังหวัดพิษณุโลกจะเป็นผู้ดำเนินการงานก่อสร้างที่เหลือ โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมดูแล

พล.ต.สุภโชคย้ำอีกว่า แนวคิดสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังใหม่) ก็ทำเพื่อให้สวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งศาลฯ หลังเดิมพื้นที่สักการะคับแคบ ตามแผนงานก็ไม่ได้รื้อศาลหลังเดิม และจะปรับภูมิทัศน์ออกแบบให้สอดคล้องอีกด้วย

ขณะที่ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก แถลงว่า จะเดินหน้าก่อสร้างต่อไปหรือไม่นั้นต้องหารือขึ้นอยู่กับกรมศิลปากรว่าจะตกแต่งศาลสมเด็จฯ อย่างไรต่อไป

นั่นหมายถึง..หน่วยงานภาครัฐเดินหน้าต่อ สร้าง “ศาลฯ หรือตำหนักพระองค์ดำ หลังใหม่” โดยรองแม่ทัพภาคที่ 3 ขอเป็นแกนประสานสิบทิศ ไม่มีทุบ-ไม่มีรื้อ ส่วนกรมศิลป์กำลังปรับแบบ

ขณะที่กลุ่มที่คัดค้าน-ไม่เห็นด้วย ที่ยังคงยืนยันขออนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอาไว้ดั่งเดิมนั้น เริ่มมีการบริจาคเงินเป็นค่าทนายความกันบ้างแล้วร่วมๆ หนึ่งหมื่นบาท เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อคัดค้านโครงการนี้ ภายใต้เจตนารมณ์เดิม คือ อนุรักษ์ศาลฯ เก่าคงเดิม ส่วนพระตำหนักหลังใหม่จะรื้อหรือย้ายไปไว้ตรงไหนก็ไม่ขัดข้องแต่ต้องไม่บังศาลเก่า


กำลังโหลดความคิดเห็น