xs
xsm
sm
md
lg

นัดแถลงส่ง 13 หมูป่าอะคาเดมีฯ กลับบ้านพรุ่งนี้ กรมอุทยานฯ กำหนดแล้งหน้าเริ่มสำรวจถ้ำหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เตรียมเปิดแถลงส่ง 13 หมูป่าอะคาเดมีฯ กลับบ้านพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) ย้ำอย่ารบกวนวิถีชีวิตปกติหลังพ้นโรงพยาบาลฯ ขณะที่ ร.ร.แม่สายฯ เชิญ “เวิร์น อันสเวิร์ธ” ให้ความรู้เด็กนักเรียน กรมอุทยานฯ วางแผนแล้งหน้าเริ่มสำรวจถ้ำหลวง

วันนี้ (17 ก.ค.) สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงราย ได้แจ้งสื่อมวลชนที่ยังคงปักหลักนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับนักเตะ-โค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่ติดในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ 23 มิ.ย. ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือ-นำตัวเข้ารักษาฟื้นฟูสุขภาพที่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ครบทั้ง 13 คน ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า จะแถลงข่าวการส่งตัวทั้งหมดกลับบ้านในเวลา 18.00 น. พรุ่งนี้ (18 ก.ค.) ในช่วงเวลาดำเนินรายการเดินหน้าประเทศไทย ณ ห้องประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ขอให้สื่อมวลชนแจ้งคำถามล่วงหน้าก่อนเพื่อให้นักจิตวิทยาได้คัดกรองตามความเหมาะสม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กที่ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 11-16 ปี ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็ได้ออกมาขอความร่วมมือไม่ให้รบกวนชีวิตประจำวันของเด็กๆ เมื่อพ้นจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและโรงเรียน

ด้านโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อ.แม่สาย ซึ่งเด็กๆ ทีมหมูป่าฯ บางส่วนเรียนหนังสืออยู่ ได้เชิญนายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่ร่วมช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 คน และนายกมล คุณงามความดี อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัยที่วนอุทยานถ้ำหลวง และปัจจุปันทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่โรงเรียน อธิบายให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่หอประชุมของโรงเรียน

โดยทั้งคู่ได้อธิบายแผนที่ภายในและลักษณะของถ้ำหลวง การเกิดเหตุและการเข้าไปค้นหาทั้ง 13 คนเป็นชุดแรกๆ ก่อนที่จะมีการระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จ จากนั้นได้ให้แง่คิดแก่นักเรียนให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าไปท่องเที่ยวภายในถ้ำ ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมกันยืนไว้อาลัยต่อ นาวาตรี สมาน กุนัน ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าที่ผ่านมาด้วย

ด้านนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เปิดเผยว่า หลัง 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ ได้รับการช่วยเหลือออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว พบว่าพื้นที่วนอุทยานฯ ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการช่วยเหลือค่อนข้างมาก ได้แก่ บริเวณหน้าถ้ำที่เคยเป็นลานกางเต็นท์นักท่องเที่ยว ลานจัดกิจกรรมเข้าค่ายของหน่วยงานต่างๆ ฯลฯ

รวมถึงขุนน้ำนางนอนและถ้ำทรายทองที่ใช้ผันน้ำออกมาเพื่อพร่องน้ำภายในถ้ำ โดยมีการขุดเจาะ-ปรับหน้าดิน ขณะที่ภายในถ้ำก็ยังมีน้ำท่วมสูงและเป็นอันตราย และจุดตามภูเขาที่มีการผันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ถ้ำคือห้วยน้ำดั้น บ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ และห้วยมะกอกตรงกิ่วคอนาง บ้านสันป่าสัก ต.โป่งผา ในบริเวณใกล้เคียงกัน และจุดสำรวจปล่องหาช่องทางเชื่อมกับถ้ำ

แนวทางฟื้นฟูเบื้องต้นนั้น ได้มีการนำถุงซีเมนต์เจล และท่อส่งน้ำตามจุดต่างๆ ออกไปหมดแล้ว ทำให้พื้นที่เริ่มกลับคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนบริเวณขุนน้ำนางนอนและถ้ำทรายทอง เบื้องต้นจะมีการรายงานให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้พิจารณาดำเนินการต่อไป ขณะที่จุดสำรวจปล่องต่างๆ ในความเป็นจริงแล้วแทบไม่ได้ผลกระทบใดๆ เพราะชุดค้นหาใช้การโรยตัวหรือสำรวจเท่านั้น จุดที่เจาะสำรวจก็มีเพียง 1 จุด ซึ่งก็ฟื้นฟูได้ไม่ยาก


สำหรับภายในถ้ำนั้นจะต้องมีการตั้งเป็นคณะทำงานที่มาจากหลายหน่วยงาน โดยแบ่งออกเป็นหลายชุด ได้แก่ ชุดตรวจสอบอุปกรณ์ที่ถูกทิ้งเอาไว้ภายในถ้ำว่ามีสภาพอย่างไร ตรงกับที่ลงทะเบียนเอาไว้กับ สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือไม่, ชุดตรวจสอบจุดที่แคบ ซึ่งได้รับแจ้งจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีลว่ามีรูแคบก่อนถึงห้องโถงบริเวณสามแยกซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้อุปกรณ์เปิดช่องให้กว้างขึ้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไรเพื่อบันทึกข้อมูลไว้, ชุดสำรวจถ้ำซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการ นักวิชาการ นักธรณีวิทยา ฯลฯ เพื่อเก็บข้อมูลของถ้ำ เช่น โถงต่างๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร สูงและกว้างเท่าไหร่อย่างไร แต่ละจุดสำคัญภายในถ้ำมีระยะทางที่ชัดเจนเท่าไหร่ ฯลฯ โดยจะดำเนินการในฤดูแล้งที่น้ำลดลงแล้วต่อไป

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ปิดถ้ำหลวงไว้ก่อนอย่างไม่มีกำหนด โดยมีการทำรั้วกั้น 2 ชั้น และจัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลวันละประมาณ 20 คน คาดว่าเมื่อน้ำแห้งลงราวเดือน ธ.ค. 2561-ม.ค. 2562 จึงจะทดลองนำทีมสำรวจเข้าดูภายในถ้ำ และหลังจากการฟื้นฟูแล้ว จะมีการพัฒนาถ้ำหลวงเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปได้อีกครั้งโดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าปากถ้ำ แต่สำหรับภายในถ้ำแล้ว ตนเห็นว่าเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยมากกว่า เพราะลึกเข้าไปในถ้ำประมาณ 300 เมตรจะเริ่มมืดไม่มีแสงสว่างและหายใจไม่คล่อง จึงต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทุกครั้ง สวมใส่ชุดป้องกันภัย ทั้งหมวกนิรภัย ฯลฯ เพื่อความปลอดภัย แต่ก็ต้องรอแนวทางปฏิบัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอีกครั้งก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น