เชียงราย – อธิบดีกรมอุทยานฯ-ผู้ว่าฯเชียงราย พร้อม อ.เฉลิมชัย เห็นพ้องจุดตั้งรูปปั้น น.ต.สมาน-อนุสรณ์สถานปฏิบัติการถ้ำหลวง ชี้พิกัดลานหน้าถ้ำเลย พร้อมเร่งทำหนังสืออนุญาต ก่อนเดินหน้าสร้างเร็วสุดเสร็จพฤศจิกาฯนี้
วันนี้ (15 ก.ค.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช , นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย , อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ได้เดินทางไปดูจุดก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานปฏิบัติการถ้ำหลวง และรูปปั้นนาวาตรีสมาน กุนัน ที่พลีชีพช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ล่าสุดคณะฯ ได้เลือกสถานที่ก่อสร้างแล้ว โดยเห็นจุดที่เหมาะสมที่สุดคือ สนามหญ้า ที่อยู่ห่างจากหน้าถ้ำประมาณ 50 เมตร ซึ่งเคยเป็นจุดตั้งเต็นท์สื่อมวลชน และญาติของผู้ประสบเหตุทั้ง 13 คน
นายธัญญา กล่าวว่าหลังจากนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะรับไปดำเนินการในด้านกฎหมาย เพื่อให้การก่อสร้างดังกล่าวประสบความสำเร็จต่อไป โดยเบื้องต้นจะทำหนังสือขออนุญาตการใช้พื้นที่ให้กับอาจารย์เฉลิมชัย ก่อน เพื่อให้สามารถลงมือก่อสร้างได้เร็วที่สุด
นายประจญ กล่าวว่าหลังจากนี้จะมีการส่งเสริมให้สถานที่แห่งนี้ได้ฟื้นคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ และส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และศิลปะของจังหวัด เพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านผลงานทางศิลปะที่งดงามดังกล่าวต่อไป
ขณะที่อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าสถานที่ที่จะก่อสร้างจะมีรูปปั้นของนาวาตรีสมาน-วีรบุรุษถ้ำหลวง ที่หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ มีฐานสูงเหมือนโขดหินและถ้ำ โดยมีหมูป่ายืนอยู่รายรอบ 13 ตัว มีน้ำล้อมรอบ ส่วนนาวาตรีสมาน จะยืนอยู่กลางเกาะบนเนินที่เด็กๆ หรือหมูป่าทั้ง 13 คนอยู่ ความสูงของระดับเท้ารูปปั้นเท่ากับคนจริง หันหน้าไปทางหน้าถ้ำ ซึ่งจะทำให้รูปปั้นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 2.40 เมตร อันเป็นความสูงที่เหมาะสม ส่วนอาคารไม้ จะมีความกว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร รวมห้องน้ำภายในด้วย ทั้งหมดจะใช้งบประมาณของตนเองประมาณ 10 ล้านบาท
ขณะที่สนามตรงจุดที่เคยเป็นโรงพยาบาลสนามในปฏิบัติการถ้ำหลวง และอยู่ถัดไปจากศาลา ทราบมาว่าทางรัฐบาลจะสร้างอาคาร เพื่อรวบรวมเรื่องราวทั้งหมดในการปฎิบัติการ ซึ่งก็อาจใช้ระยะเวลาในการเขียนแผน และยื่นของบประมาณอีกนานนับปี แต่โครงการที่ตนร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯนี้ สามารถสร้างได้ทันที โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน หรือให้ทันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติของ จ.เชียงราย ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
สำหรับศาลาหรืออาคารไม้ดังกล่าว ออกแบบโดยอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงรายผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้รูปทรงศิลปะล้านนาประยุกติ์ร่วมสมัย-พื้นคอนกรีต-หลังคา 2 ชั้น มีช่องสำหรับระบายอากาศระหว่างหลังคา ไม้ที่ใช้เป็นไม้เก่า เช่น เสาบ้านเก่า ฯลฯ ภายในจะนำภาพวาดโดยศิลปินเชียงรายบนผืนผ้าใบยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตร และผลงานทางศิลปะ ศึกษาธรรมชาติ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การช่วยเหลือทีมหมูป่าของหน่วยงานต่างๆ มาจัดแสดงด้วย
อนึ่ง บริเวณหน้าถ้ำหลวง ขณะนี้ยังคงมีคณะจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกันทำความสะอาด หรือบิ๊กคลีนนิ่งเป็นวันที่ 2 โดยมีการรื้อเต็นท์ และสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวต่างๆ บริเวณด้านหน้า เก็บขยะ ฯลฯ คืนความเป็นธรรมชาติให้กับถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนฯ ด้วย