xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเสือ..! ‘อ.เฉลิมชัย’รับโฟมปั้นต้นแบบจ่าแซม ย้ำไม่รับเงินบริจาค-คนไม่รู้อย่าพูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย – “อาจารย์เฉลิมชัย” พร้อมศิลปินนักปั้นมือหนึ่ง เปิดโรงเหล็กวัดร่องขุ่น รับโฟมปั้นต้นแบบ “จ่าแซม” พร้อมเริ่มเดินหน้าต้มดินน้ำมัน-ระดมศิลปินทำแม่พิมพ์ทันที ย้ำไม่รับเงินบริจาค ใครถามให้มีด่า จวกซ้ำพวกไม่รู้ศิลปะ อย่าวิจารณ์



วันนี้ (21 ก.ค.) อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย พร้อมด้วยอาจารย์สราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินปั้นมือหนึ่ง ได้นำศิลปินชาวเชียงรายหลายคนรับโฟมรูปปั้นต้นแบบนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตทหารเรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ติดถ้ำหลวง ที่ทางร้านเอฟซ่ากัดโฟม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่งมาให้ที่โรงเหล็กวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย

เพื่อให้ศิลปินชาวเชียงราย ใช้ปั้นเป็นต้นแบบ ก่อนหล่อรูปปั้นจ่าแซม ด้วยโลหะบรอนซ์ สำหรับนำไปตั้งหน้าหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย ต่อไป ซึ่งขณะนี้อาจารย์สราวุฒิ ศิลปินปั้นมือหนึ่ง ได้จัดเตรียมดินน้ำมันอย่างดี อุปกรณ์ปั้น และชุดประดาน้ำของนาวาตรีสมาน มาเป็นต้นแบบในการปั้นด้วย

ซึ่งทุกคนที่พบเห็นต่างตื่นตะลึง เมื่อพบว่าถังออกซิเจน ที่จ่าแซม หรือ น.ต.สมาน ใช้ดำน้ำในถ้ำหลวงนั้น มีน้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม และจ่าแซม ต้องแบกเข้าไปในถ้ำถึง 3 ถัง เหมือนหน่วยซีลคนอื่นๆ ระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว


อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าหลังจากได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทางศิลปินก็ได้เริ่มสร้างรูปปั้นทันที โดยอาจารย์สราวุฒิ ได้ปั้นตัวแบบ และส่งไปยังทำโฟมต้นแบบที่นครปฐม และนับจากนี้จะเป็นขั้นตอนการนำดินน้ำมัน มาปั้นขึ้นรูป ซึ่งจะมีการเพิ่มเติม ตัดต่อ และตกแต่งให้มีความสวยงาม พอดี สมจริง-สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะต้นแบบครั้งแรกที่ทำขึ้นมีเวลาจำกัด จึงทำอย่างรวดเร็ว ทำให้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ซึ่งขั้นตอนการปั้นด้วยดินน้ำมันนั้น อาจารย์สราวุฒิ จะเป็นผู้รับผิดชอบคุมงาน และระดมศิลปินมาช่วยกันทำวันละอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 สัปดาห์หมุนเวียนกัน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะส่งไปยังร้านเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำแบบพิมพ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ก่อนจะทำการหล่อโลหะ อีกประมาณ 4 เดือน แล้วจึงยกไปตั้งที่หน้าศาลาพิพิธภัณฑ์ภายในวนอุทยานฯ ตามรูปแบบต่อไป

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่ารูปปั้นจ่าแซม จะสูงประมาณ 2.60 เมตร ไม่รวมฐานและส่วนประกอบด้านล่างจะสูงประมาณ 3.50 เมตร ทำให้ทั้งหมดจะมีความสูงจากพื้นประมาณ 5.10 เมตร นำไปตั้งอยู่หน้าศาลาที่มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 20 เมตร และมีห้องน้ำชาย-หญิงยาวประมาณ 10 เมตรแยกกันเป็น 2 อาคาร

ส่วนภายในศาลาก็จะนำภาพวาดยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตร ที่กำลังวาดกันไปเรื่อยๆ เพราะมีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เข้าไปปฏิบัติที่ถ้ำหลวง ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ หน่วยซีล ฯลฯ เพื่อให้รายละเอียดของภาพคือ การปฏิบัติการที่แท้จริง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงตัดภาพบางส่วนออก และวาดเพิ่มเติมลงไป แต่ก็ยังไม่นิ่งพอ และแก้ไขกันไปเรื่อยๆ

ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ยังกล่าวด้วยว่าสำหรับโครงการสร้างอนุสรณ์สถานจ่าแซม-พิพิธภัณฑ์ปฏิบัติการถ้ำหลวง ที่จะทำนี้ ตนจะไม่รับเงินบริจาค รวมถึงปูน หิน ดิน ทราย ฯลฯ จากผู้ใดทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลัง ที่มักมีการพูดโอ้อวด ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาว่าได้บริจาคเงิน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ตนไประดมเงินจากชาวบ้านมาเป็นร้อยล้าน แต่ใช้จริงแค่ 10 ล้าน กินกำไรบาน แล้วก็นินทากันไปต่างๆ นานาทำให้ตนเสียหาย

แต่หากมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น เอฟซ่ากัดโฟมนครปฐม หรือร้านเอเชียไฟอาร์ตพระนครศรีอยุธยา ที่ตนไปว่าจ้างให้ทำแล้วไม่รับเงินเลย ทั้งยังนำมาส่งและติดตั้งให้ถึงที่เชียงราย โดยระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย ฯลฯ ตนก็จะยอมและขอขอบคุณด้วยเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์เฉลิมชัย ยังย้ำด้วยว่า คนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะอย่ามายุ่ง ตนและทีมงาน ที่สร้างสรรค์งานระดับโลกมาแล้ว จะทำออกมาอย่างงดงามแน่นอน จะทำให้ฝรั่งเห็นแล้วร้องโอ้ววว..ทันที ให้ผู้ที่มีสติปัญญาในการมองงานศิลปะได้เห็นว่ามีความสุดยอด ดังนั้นคนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะ อย่าได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์

ด้านอาจารย์สราวุฒิ กล่าวว่าตนใช้เวลาปั้นรูปต้นแบบจ่าแซม เพียงคืนเดียวจริงๆ เสร็จราวๆ 05.00 น.ซึ่งไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร แต่ทำเพราะมีแรงบันดาลใจ ส่วนขั้นตอนการจัดทำรูปปั้นจ่าแซม มีคนเข้ามาช่วยกันมากมาย อย่างการต้มดินน้ำมันที่บ้าน ปรากฎว่ามีชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก พากันมาช่วยเป็นจำนวนมาก เพราะต้องใช้ดินน้ำมันกว่า 1 ตันจึงจะเสร็จสมบูรณ์

ส่วนโฟมรูปปั้นต้นแบบ ที่ทางร้านเอฟซ่ากัดโฟมนครปฐม ทำให้นั้น ปกติต้องเสียค่าใช้จ่าย 60,000-70,000 บาท เขาก็ไม่คิดเงินเลย ทั้งยังขนมาติดตั้งให้ถึงที่ด้วย เช่นเดียวกับร้านหล่อโลหะฯอยุธยา ที่ต้องใช้ต้นทุนอย่างต่ำ 4-5 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงมือปั้น ศิลปินก็แวะเวียนมาช่วย ซึ่งถือได้ว่าทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่ออุทิศให้จ่าแซม อย่างแท้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น