xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินเชียงราย จรดพู่กันบันทึกประวัติศาสตร์ “The Hero ถ้ำหลวง” แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กรมอุทยานฯ ไฟเขียว “ศิลปินเชียงราย” สร้างศาลาอนุสรณ์สถานปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่าอะคาเดมี-ตั้งรูปปั้น “จ่าแซม” หน้าถ้ำหลวง อธิบดีฯนัดหารือกำหนดจุดพรุ่งนี้ ขณะที่ “เฉลิมชัย” ควัก 10 ล้าน นำศิลปินทำทันที





วันนี้ (14 ก.ค.) อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย, อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ได้นำศิลปินชาวเชียงรายจำนวนมากที่สวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความ “HERO” พร้อมภาพถ้ำ-การดำน้ำในถ้ำหลวง ร่วมกันแถลงแนวทางการเชิดชูปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนชายทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย จำนวน 13 คน ออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่สมาคมขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย

อาจารย์เฉลิมชัยระบุว่า บรรดาศิลปินเชียงรายได้หารือและสรุปจะดำเนินการในเรื่องนี้ 3 เรื่องหลักๆ คือ การสร้างศาลาบริเวณด้านหน้าถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานฯ, การวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดความยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตร และทำรูปปั้นขนาด 1 เท่าครึ่งของจ่าเอก สมาน กุนัน หรือจ่าแซม นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ กองทัพเรือ ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการ ไว้ด้านหน้าศาลาที่จะสร้างขึ้น ส่วนภายในศาลาก็จะนำภาพวาดที่ศิลปินเชียงรายทั้งหมดร่วมกันวาดไปจัดแสดง พร้อมสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เมื่อผ่านพ้นไปได้ระยะหนึ่งเกรงว่าคนจะหลวงลืมปฏิบัติการนี้ จึงได้รีบดำเนินการ และหากรอภาครัฐก็คงจะช้า โดยตั้งงบประมาณส่วนตัวประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานนี้ขึ้น

อันดับแรกคือ การวาดภาพซึ่งตนออกแบบให้ศิลปินแบ่งกันวาดส่วนต่างๆ อาจจะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือฮีโร่ในปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าทั้ง 13 คนไม่ครบถ้วน แต่ในอนาคตภาพสามารถเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ อีกส่วน คือ การจัดทำรูปปั้นเหมือนของจ่าแซม-จ.อ.สมาน กุนัน วีรบุรุษถ้ำหลวง โดยจะระดมศิลปินหลายคนช่วยกัน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง และทำการหล่อด้วยโลหะจนแล้วเสร็จราวเดือน ก.พ. 2562

ส่วนที่ 3 คือ ศาลาที่เป็นอนุสรณ์สถาน ที่ออกแบบโดยอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงราย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ก็จะทำการก่อสร้าง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องงบ ตนจะมอบให้ก่อนจำนวน 1 ล้านบาท หากไม่พอก็ไปรับเพิ่มเติมได้อีกจนกว่าจะสร้างเสร็จ

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ศาลาดังกล่าวจะมีความยาวประมาณ 20 เมตร มีห้องน้ำ 20 ห้อง ใช้เพื่อจัดแสดงผลงานทางศิลปะ ศึกษาธรรมชาติ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ ของหน่วยงานต่างๆ โดยมีรูปภาพซึ่งจะได้ขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็นจริง และใช้สำหรับศึกษาข้อมูล โดยมีภาพขนาด 13 เมตร ที่ศิลปินร่วมกันวาดวันนี้ (14 ก.ค.) จัดแสดงเป็นภาพหลัก และยังจะมีภาพขนาด 5 เมตร อีก 2 ใบขนาบซ้าย-ขวาด้วย

ดังนั้น อนุสรณ์สถานหน้าถ้ำหลวงดังกล่าวจึงจะสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะ ทั้งจิตรกรรม ปฏิมากรรม และสถาปัตยกรรมครบถ้วน เพื่อจะได้ให้ผู้คนไปดูและไม่หลงลืมไปตามกาลเวลา เมื่อแล้วเสร็จก็ให้รัฐบริหารจัดการ ตนก็ยังกังวลอยู่จึงจะจัดหารายได้ด้วยการจัดทำโปสเตอร์ โปสการ์ด ของฝากของที่ระลึก ฯลฯ จำหน่ายภายในศาลา เพื่อให้มีรายได้ให้เจ้าหน้าที่ได้นำไปบริหารจัดการอนุสรณ์สถานดังกล่าวต่อไป

ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ได้รับการอนุญาตจากกรมวนอุทยานแห่งช่ติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรียบร้อยแล้ว โดยทางอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้นัดหารือกับตนที่หน้าถ้ำหลวงพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) เวลา 10.00 น. เพื่อจะได้กำหนดสถานที่และรายละเอียดที่ตั้งต่างๆ ต่อไป โดยทางตนจะจัดหางบประมาณให้ทั้งหมด



ทั้งนี้ คาดหวังว่ากรณีศาลาจะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน ตามที่อาจารย์สมลักษณ์ได้การันตีเรื่องระยะเวลาให้แล้ว และจะมีฐานของรูปปั้นจ่าแซม สร้างรอไว้ก่อน ส่วนภาพวาดนั้นหลังจากวาดระหว่างวันที่ 13-15 ก.ค.แล้วเสร็จ อาจจะจัดแสดงที่ขัวศิลปะระยะหนึ่งแล้วนำไปเก็บไว้ที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย เพื่อป้องกันลมฝนและแดด ก่อนนำไปไว้ที่ศาลาอนุสรณ์สถานเมื่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้ทันการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเชียงรายจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือน พ.ย. 2561 นี้ต่อไป จากนั้นต้นปีหน้าจึงมีรูปปั้นจ่าแซม คาดว่าจะสูงประมาณ 2.40 เมตร มาตั้งไว้ด้านหน้าต่อไป

ด้านอาจารย์สมลักษณ์กล่าวว่า ศาลาดังกล่าวมีพื้นคอนกรีต โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้รูปทรงศิลปะล้านนาประยุกต์ร่วมสมัย หลังคา 2 ชั้น มีช่องสำหรับระบายอากาศระหว่างหลังคา ไม้ที่ใช้เป็นไม้เก่า เช่น เสาบ้านเก่า ฯลฯ ซึ่งจะมีความงดงามและคงทน เข้ากับธรรมชาติของป่าไม้-ขุนเขาของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้อย่างลงตัว โดยจะระดมกำลังศิลปินทั้งหมดร่วมสร้างแบบไม่คิดค่าตัวหรือค่าจ้างใดๆ แต่อย่างใด

ขณะที่อาจารย์สุวิทย์กล่าวว่า การดำเนินการของศิลปินเชียงรายครั้งนี้มีภาคเอกชนนำอาหารน้ำดื่มมาให้เพื่อเป็นกำลังสนับสนุน ส่วนชาวบ้านที่อยู่รายรอบขัวศิลปะก็ทำอาหารมาเลี้ยงดูบรรดาศิลปินที่เข้าไปทำงานอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปทุกฝ่ายก็ยังคงระดมกำลังกันเพื่องานนี้อย่างแท้จริง














กำลังโหลดความคิดเห็น