xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนขึ้นเวทีชี้ทางปั้น “เชียงราย” รับทุนจีน ผู้ว่าฯ ย้ำต้องแก้ 6 เรื่องใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ผู้ว่าฯ ภาคธุรกิจ นักอนุรักษ์ ขึ้นเวทีชี้ทางพัฒนาเชียงรายรับทุนจีนทะลัก พ่อเมืองแนะเร่งแก้ 6 เรื่องใหญ่ ทั้งผังเมือง ภาษา อำนาจอนุมติ ฯลฯ เอ็นจีโอชงแนวคิดเปิด ม.สมุนไพร เชื่อได้ทั้งจีน-ท้องถิ่น

ในเวทีประชุมวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มิ.ย.นั้น นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "โอกาสและความท้าทายในการสร้างความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ชายแดนเชียงรายกับประเทศเพื่อนบ้าน"

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต่อมามีการพัฒนาชายฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด กระทั่งปี 40 ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยังเหลืออีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัวของคนระยองสูงถึง 4 แสนบาท แต่ไทยไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเชียงรายก็ได้รับเลือกให้จัดตั้งระยะที่ 2 ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ

ปัจจุบันเชียงรายมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี 99,827 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศ รายได้เฉลี่ย 86,884 บาทต่อคนต่อปี อันดับที่ 46 ของประเทศ มีเศรษฐกิจสำคัญจากภาคการเกษตรคิดเป็น 65% และนอกการเกษตรคิดเป็น 35% แต่ผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ จังหวัดจึงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ให้ราคาสูงกว่าเพื่อให้สัดส่วนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 40% ให้ได้ต่อไป

ส่วนการค้าชายแดนนั้นถือว่าเป็นจุดเด่นที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีอยู่แล้ว ส่วนการท่องเที่ยวยังมีความแตกต่างระหว่างฤดูท่องเที่ยวและฤดูฝน ดูได้จากเที่ยวบินช่วงไฮซีซัน สูงถึงสัปดาห์ละ 80 เที่ยว แต่ช่วงนี้ลดเหลือไม่เกิน 40-50 เที่ยว

จังหวัดจึงร่วมกับภาคเอกชนและเครือข่ายประชาชนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น ท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน ฯลฯ เพื่อลดช่องว่างระหว่างฤดูลงให้ได้ เพราะเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรของจังหวัดคาดว่ามีอยู่ราว 30% หากรวมกับภาคการเกษตรที่จะทำให้สูงถึง 40% ก็จะกลายเป็น 70% ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงราย นอกจากนี้ เศรษฐกิจเชียงรายยังขึ้นอยู่กับการศึกษาด้วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่ถึงกว่า 10% เพราะมีคนนอกพื้นที่ และต่างประเทศมาเรียนจำนวนมาก ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาล

ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายสรุปถึงปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.เชียงรายว่ามีอยู่ 6 ประการหลักๆ คือ 1. ราคาที่ดินที่พุ่งสูง แม้แต่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 อำเภอราคาก็สูงมาก เช่น อ.เชียงแสน ชาวบ้านต้องการราคาที่ดินไร่ละกว่า 1-2 ล้านบาท ฯลฯ

2. อุปสรรคเรื่องผังเมือง เพราะกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจกับกลุ่มนักอนุรักษ์มองการพัฒนาคนละทิศทาง เช่น กรณียางพารา ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศกิโลกรัมละประมาณ 42 บาท แต่เชียงรายขายได้ 18 บาทเพราะไม่มีโรงงานแปรรูปต้องรีบส่งไปขายจีน หรือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพราะพื้นที่เป็นโซนผังเมืองสีเขียว และอื่นๆ หมด ทำให้สร้างโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่กว่า 5 แรงม้าไม่ได้เลย ฯลฯ

ปัจจุบันกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่เป็นจุดๆ โดยโซนที่ควรอนุรักษ์เราก็ควรอนุรักษ์ เช่น อ.เชียงของ ตรงริมฝั่งไม่ควรให้รถเข้าและอนุรักษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่รอบนอกควรพัฒนาให้สร้างพาณิชยกรรมได้บ้าง ไม่เช่นนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องหาจุดลงตัวกันให้ได้

3. อุปสรรคเรื่องแรงงาน ที่มีผู้คนที่ถือบัตรหลากหลายมาก ผู้ประกอบการแทบไม่กล้าจ้างงาน ขณะที่คนไทยก็ไม่ทำงานที่ใช้แรงงาน หากมีการจัดตั้งธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านแล้วแรงงานเหล่านี้ก็จะทะลักหายไปกันหมด 4. อุปสรรคการปรับตัวของคนในพื้นที่ เช่น การค้าชายแดนที่เสียเปรียบผู้ที่เชี่ยวชาญทางการค้าจากนอกประเทศ การทำเกษตรที่เน้นปริมาณ ปลูกพืชชนิดเดียวมากจนล้นตลาด ฯลฯ

5. อุปสรรคเรื่องเอกภาพในการลงทุน เช่น จีน สปป.ลาว พม่า สามารถตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆ ได้ทันทีในระดับแขวง มณฑล แต่ของไทยต้องขึ้นกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทำให้ล่าช้าและขับเคลื่อนได้ยาก และ 6. อุปสรรคเรื่องภาษา ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน และจีนทำได้ดีกว่ามาก

“ภาคเอกชน นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ฯลฯ ต้องร่วมกันอุดช่องว่างอุปสรรคต่างๆ นี้ร่วมกัน หากทำได้จะทำให้เศรษฐกิจของเชียงรายขับเคลื่อนไปได้ดีแน่นอน”

ขณะที่เวทีอภิปรายเรื่อง "โอกาสและความท้าทายของการพัฒนา จ.เชียงราย กับบทบาทจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" นั้น นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การค้าและการลงทุนกับประเทศจีนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนการพัฒนาจังหวัด โดยเฉพาะโครงการ One Bell One Road ที่เอื้อให้กลุ่มทุนจีนทะลักลงใต้เข้าไทยมากขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับ

นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ในปี 61 นี้คาดการณ์กันว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนทะลักสู่ประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้เป็นต้นไปยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวคงต้องรองรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก

โดยเฉพาะเชียงรายที่อยู่ใกล้กับประเทศจีนมากที่สุดแค่ 300 กว่า กม. สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคือเรื่องภาษา เรื่องเว็บไซต์ที่คนจีนใช้แตกต่างออกไป การดูแลความปลอดภัย ซึ่งคนจีนมีความอ่อนไหวต่อเรื่องนี้มาก และอุปสรรคสำคัญคือ กฎกติกาตามด่านพรมแดนไม่ชัดเจน ทำให้จากเดิมทัวร์จีนเคยทะลักลงมาจำนวนมากก็ลดลง เมื่อคณะทัวร์มาถึงยังต้องใช้เอกสารหลักฐานจำนวนมากอยู่ ต้องรอนาน ขัดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สิ้นเชิง

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักอนุรักษ์จากกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการทะลักลงมาของกลุ่มทุนจีนและนักท่องเที่ยวเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยและภาคประชาสังคมได้ปรับตัวไปสู่ความสมดุลในการพัฒนา เพราะเดิมเรามักตั้งธงรองรับการลงทุนของจีน แต่หากเราเอาท้องถิ่นไทยเป็นตัวตั้งแล้วพัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มทุนจีนก็จะเกิดผลดี ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

เช่น กรณีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ ในอดีตเป็นการจัดการเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มทุนจีน แต่พื้นที่ที่จะจัดตั้งไม่เหมาะสมทำให้ชาวบ้านคัดค้าน แต่หากมองอีกมุมว่าท้องถิ่นเชียงของต้องการพัฒนาการศึกษา และมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ เราก็หันมาตั้งมหาวิทยาลัยสมุนไพรอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเสียเลยก็จะเป็นผลดี จีนก็มีความสนใจและต้องการพัฒนาในเรื่องนี้อยู่แล้ว หากทำได้ก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่ ประชาชนก็มีรายได้ เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และตรงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของ จ.เชียงรายอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น