ศูนย์ข่าวศรีราชา - ที่สุดของชีวิต! เปิดประวัติศิลาจารึกพระนามาภิไธย “สมเด็จย่า” หลังค้นพบที่เกาะล้าน เมืองพัทยา “สมเด็จย่า” พร้อม “พระพี่นางฯ” เสด็จเดินทางมาเยี่ยมเยียนราษฎรเกาะล้านด้วย เรือหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อปี พ.ศ.2516 ก่อนลงพระนามาภิไธยไว้บนแท่งหินแม่น้ำใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหาดนวล
ตามที่ Manager Online ได้นำเสนอข้อมูลจากนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพัทยาผ่านเฟซบุ๊ก ตู่จะเก่าก็ใช่ว่า ทับยาในอดีต ถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ หลังจากมีการค้นพบศิลาจารึกพระนามาภิไธย “สมเด็จย่า” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากพระองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยเรือหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อปี พ.ศ.2516 นั้น
ล่าสุด ทางคณะนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อติดตามข้อมูลถึงที่มาประวัติศาสตร์ของศิลาจารึกดังกล่าว นำโดย อ.อัฐพงษ์ บุญสร้าง นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคตะวันออก รางวัลดีเด่นเข็มพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2559 นายณรงค์ศักดิ์ รูปขำดี นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพัทยา และนายประทีป เชื้อแก้ว นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านเกาะล้าน
อ.อัฐพงษ์ บุญสร้าง นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ที่มาของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพัทยา นายณรงค์ศักดิ์ รูปขำดี หรือลุงตู่ ได้ร่วมกันสำรวจบ้านเกาะล้าน เพื่อศึกษา และสืบค้นประวัติศาสตร์เป็นประจำทุกปี โดยครั้งแรกได้ทำการสำรวจถ้ำแร่ ต่อมา ในครั้งที่สองได้รับทราบข้อมูลจาก นายประทีป เชื้อแก้ว อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นราษฎรบนเกาะล้าน ว่า เมื่อครั้งตอนยังเป็นเด็กจำความได้ว่า สมเด็จย่า ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยเรือหลวง และได้ลงพระนามาภิไธยไว้บนแท่งหินใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหาดนวล จากนั้นเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านหลายคนก็ได้หลงลืมประวัติศาสตร์ดังกล่าวไป
จากนั้นการค้นคว้าหาประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อทราบว่า ปัจจุบันศิลาจารึกดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีจากบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นมรดกล้ำค่าที่หาชมได้ยาก นายประทีป ได้สืบค้น และสอบถามชาวบ้านด้วยจิตวิญญาณความเป็นนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ จนทราบว่า ศิลาจารึกสมเด็จย่า อยู่ในความดูแลของนายธงชัย สังข์วรรณะ ที่ปัจจุบัน อายุ 67 ปีแล้ว นายประทีป จึงนัดหมายให้มาทำการพูดคุยเพื่อต่อยอดประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองพัทยา เพื่อเป็นองค์ความรู้ของลูกหลาน
ลุงธงชัย กล่าวว่า สมัยตนเองยังเป็นวัยรุ่นอยู่นั้น สมัยนั้นบนเกาะล้านมีสนามกอล์ฟเปิดให้บริการอยู่ที่หาดนวล ซึ่งที่ดินตอนนั้นเป็นของ นายศักดิ์ ไทยวัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีราชทัณฑ์ ซึ่งตอนนั้นตนเองเป็นคนงานตนสนิทของ “อธิบดีศักดิ์” เพราะเป็นคนเกาะล้าน จึงได้รับมอบหมายให้คอยดูแลที่ทางสนามกอล์ฟ จำความได้ว่า สนามกอล์ฟหาดนวล เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2513 และมาเลิกกิจการในปี 2521 เนื่องด้วยปัญหาบนเกาะขาดแคลนน้ำดิบ
ช่วงก่อนหน้าที่สมเด็จย่าจะเสด็จมาเยี่ยมราษฎรเกาะล้าน อธิบดีศักดิ์ ไทยวัฒน์ ได้สั่งการให้พวกตนเองทำการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่หาดนวลยื่นลงไปในทะเล โดยขณะนั้นตนเองมีตำแหน่งเป็นแค่คนงานเท่านั้น การก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือดังกล่าวใช้เวลาเป็นแรมปีจึงแล้วเสร็จ เมื่อถึงช่วงเวลาที่สมเด็จย่า เสด็จมา ตนเองจึงเติบโตในหน้าที่การทำงานขึ้นเป็นหัวหน้างาน และในวันที่ 1 ธันวาคม 2516 ได้มีเรือหลวงมาจอดหน้าหาดนวล บ้านเกาะล้าน ในเวลา 3 โมงเย็น และภาพที่ปรากฏชัดเจนในความทรงจำคือ ช่วงเช้าของวันที่ 2 ธันวาคม 2516 สมเด็จย่าและสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ได้เสด็จจากเรือหลวงด้วยเรือเล็กมาบนฝั่งหาดนวล ก่อนจะทรงเก็บเปลือกหอย และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นฝั่งมาด้วยพระองค์เอง โดยที่ไม่มีการนำเรือหลวงมาจอดเทียบท่าแต่อย่างใด
ลุงธงชัย กล่าวต่อว่า สมเด็จย่าทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยน้ำใจไมตรีที่ดี ไม่ทรงถือพระองค์ในการพูดคุยกับประชาชน เป็นพระราชจริยวัตรที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง และเป็นบุญที่มีโอกาสได้ใกล้ชิด และพบเห็นพระองค์ขณะเดินทางมาเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเกาะล้านในครั้งนั้น ต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นมายังฝั่งหาดนวลแล้ว อธิบดีศักดิ์ ไทยวัฒน์ ให้ลูกน้องเตรียมแท่นหิน คาดว่าจะเป็นหินแม่น้ำไว้รอพระองค์ลงรอยพระหัตถ์ด้วยปากกา ก่อนมีการสลักลงเนื้อหินตามลำดับ และประดิษฐานไว้บริเวณแท่นศิลาจารึกใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมหาดนวล ซึ่งปัจจุบัน ต้นมะขามต้นนี้ยังคงอยู่
หลังจากเกิดปัญหาน้ำดิบขาดแคลน และอธิบดีศักดิ์ ไทยวัฒน์ ได้เสียชีวิตลง ลูกหลานก็ได้ขายที่ดินเปลี่ยนมือไป ด้วยความที่อธิบดีศักดิ์ ย้ำนักย้ำหนาว่า ให้ตนเองคอยดูแลผลประโยชน์บนหาดนวลให้แก่อธิบดี ด้วยความรักในน้ำใจเจ้านาย และความซื่อสัตย์ จึงนำศิลาจารึกดังกล่าวกลับมาดูแลในบ้านของตนเอง เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าของชีวิต และครอบครัว
จากนั้น ลุงธงชัย ได้นำคณะนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสื่อมวลชนเดินทางไปยังบ้าน ซึ่งพบว่า แท่นศิลาจารึกดังกล่าวถูกจัดวางไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วนตรงมุมห้องพระของบ้าน โดยมีการนำผ้าแดงมามาปูรองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตรวจสอบพบเป็นแท่งหิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นหินแม่น้ำ ขนาดความสูง 105 ซม. กว้าง 30 ซม. และหนา 15 ซม. ด้านบนลงพระนามาภิไธย “สังวาลย์” ช่วงกลาง ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2516 ด้านล่างลงชื่อเรือลพบุรีราเมศวร์
อ.อัฐพงษ์ บุญสร้าง นักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคตะวันออก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าเรือพระที่นั่งของสมเด็จย่าจะเป็นเรือหลวงจันทระ แต่จากการสืบค้นทราบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเรือหลวงจันทระ ได้พักงานซ่อมบำรุง พระองค์จึงทรงนำเรือลพบุรีราเมศวร์ เสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรบนเกาะล้านแทน ทั้งนี้ การดำเนินการที่เป็นเรื่องของพระบรมวงศ์ชั้นสูงนั้นจะมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนที่ค่อนข้างจะมีรายละเอียดมาก ที่ผ่านมา ในฐานะนักอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ก็ได้รวบรวมรายงานเป็นข้อมูลส่งไปยังพิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของการเก็บรักษานั้นเป็นการพระราชทานส่วนบุคคล ก็ไม่มีใครจะเก็บรักษาดูแลได้ดีกว่าเจ้าของที่ดูแลตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน
ด้าน ลุงธงชัย ผู้ดูแลแท่นศิลาจารึกดังกล่าวบอกด้วยว่า ถือเป็นสิ่งของล้ำค่าที่สุดในชีวิต ไม่มีความภูมิใจอื่นใดที่ตนเองจะภูมิใจไปมากกว่านี้ จะเก็บรักษาดูแลเป็นอย่างดี ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิตด้วย เพราะจากนั้นในปี 2517 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จมาเล่นกอล์ฟที่หาดนวลด้วย ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาวบ้านเกาะล้าน รวมถึงชาวจังหวัดชลบุรีด้วย หลังจากนี้ จะเปิดให้ประชาชนได้ทำบุญสักการะแท่นศิลาจารึกดังกล่าวปีละหนึ่งครั้ง คือ วันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันสมเด็จย่าด้วยเช่นกัน