xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัญหาขยะ น้ำดิบ สิ่งสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งแก้ไขบนเกาะล้าน เมืองพัทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชี้ปัญหาขยะ น้ำดิบ เรื่องใหญ่บนเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งหาทางแก้ไข ส่วนความเหมาะสมของจำนวนนักท่องเที่ยวบนเกาะควรอยู่ที่วันละ 6,410 คน แต่ปัจจุบัน ยอดจริงกลับสูงถึง 1หมื่น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ส่งผลต่อสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับด้านต่างๆ ที่ไม่เพียงพอ

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายอภิชาต วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอโครงการศึกษาและจัดทำโซนนิ่ง รวมทั้งการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยวเกาะล้าน จ.ชลบุรี (Carrying Capacity) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 10 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษาการจัดทำโซนนิ่งและแผนการรองรับนักท่องเที่ยวบน 5 เกาะหลักในประเทศ ประกอบด้วย เกาะล้าน เกาะเสม็ด เกาะกูด เกาะหมาก และเกาะช้าง ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี

ผศ.ดร.ปนิตา วงศ์มหาดเล็ก หัวหน้าโครงการศึกษาฯ เผยว่า สภาพเกาะเหล่านี้เดิมเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ แต่ด้วยความสวยงามทางธรรมชาติ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกลุ่มพื้นเพชาวบ้านที่ทำประมงชายฝั่ง มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก จนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาเป็นอย่างมาก
 
ทั้งนี้ พื้นที่เกาะล้าน ถือเป็นอีก 1 พื้นที่ที่คณะฯ ได้ทำการสำรวจและศึกษาตามแผน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เกาะล้าน มีพื้นที่รวมกว่า 3,411 ไร่ มีชายหาด 8 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 368 ไร่ หรือ 11% ของพื้นที่โดยรวม ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวก มีโรงแรมที่พัก จำนวน 1,567 ห้อง ท่าเรือ 2 แห่ง ขณะที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนเฉลี่ยวันละกว่า 9 พัน-1 หมื่นคน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก และไม่สอดคล้องต่อพื้นที่รวม เนื่องจากการพัฒนาเป็นไปได้ยากด้วย พื้นที่มีความลาดชัน และมีจำนวนจำกัด

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของกรรมสิทธิ์การครอบครองที่ดินที่พบว่า มีการถือครองด้วยการจับจองแบบไม่มีกรรมสิทธิ์จำนวนมาก ทำให้การพัฒนาล่าช้า และการประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นไปได้ยาก

“ศักยภาพของเกาะล้านนั้น จากการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลความเหมาะสมของจำนวนนักท่องเที่ยวควรจะอยู่ที่วันละ 6,410 คน แต่ปัจจุบัน มีการเดินทางเข้ามาจำนวนมาก กรณีนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน คือ ปัญหาเรื่องขยะ ซึ่งมีการขนมาจากฝั่งเฉลี่ยวันละ 35 ตัน ทั้งๆ ที่ปริมาณที่สามารถรอรงรับได้เพียงวันละไม่เกิน 25 ตันเท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหาตกค้างของขยะกว่า 5 หมื่นตัน ที่ยังไร้แนวทางการแก้ไข และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมลพิษในปัจจุบัน” ผศ.ดร.ปนิตา กล่าว

ขณะที่ปัญหาน้ำดิบเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันการผลิตน้ำดำเนินงานโดย East Water ซึ่งเฉลี่ยกำลังผลิตอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตรต่อวัน แต่การใช้น้ำบนเกาะล้าน จะอยู่ที่ 1.6 ล้านลิตรต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนในช่วงวันหยุด

โดยกรณีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐ หรือเมืองพัทยาต้องเร่งแก้ไขจัดการ หลังมีการส่งมอบผลการศึกษาอย่างเป็นทางการเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขและพัฒนา เพื่อให้เกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เช่น การกำหนดมาตรการด้านการแก้ไขที่ชัดเจน หรือการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการเพื่อหารายได้มาใช้ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะตามข้อเสนอ 13 ด้าน เช่น 1.การจัดทำเครือข่ายถนนใหม่ ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงด้านความลาดชัน ปัญหาไฟแสงสว่าง และวัสดุที่ใช้ 2.การวางแผนด้านระบบขนส่งมวลชน เช่น รถสองแถว หรือรถจักรยานยนต์ที่ต้องเพียงพอ 3.การแก้ไขปัญหาเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 4.การแก้ไขปัญหาขยะ โดยการขนถ่ายขยะกว่า 5 หมื่นตัน ไปกำจัด และแผนการรองรับขยะใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

5.การออกค่าธรรมเนียมแก่นักท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์บนพื้นที่เกาะล้าน 6.การพัฒนาท่าเรือ ด้วยการเพิ่มหรือปรับปรุงเพื่อให้เกิดความคล่องตัว 7.การออกแบบอารยสถาปัตย์ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม 8.การฟื้นฟูทรัพยา กรธรรมชาติใต้ทะเลที่เสื่อมโทรมลง 9.การเพิ่มปริมาณน้ำดิบเพื่อให้เกิดความเพียงพอต่อความต้องการ 10.การปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อลดความสูญเสียแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว

11.การวางแผนด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจ 12.การควบคุมมาตรการความปลอดภัยสำหรับกิจกรรมทางน้ำชนิดต่างๆ และ 13.การพัฒนาสาธารณูปโภคที่ต้องสอดคล้องต่อปริมาณประชาชน และนักท่องเที่ยว






กำลังโหลดความคิดเห็น