ศรีสะเกษ - ทุเรียนอ่อน-เถื่อนเกลื่อนศรีสะเกษ พ่อค้าเร่แสบขนทุเรียนที่อื่นมาแอบอ้างเป็น “ทุเรียนภูเขาไฟ” วางขายปั่นราคาแพง แถมชาวสวนนำทุเรียนอ่อนออกขาย เผยหนุ่มใหญ่เจอเต็มๆ ซื้อ 2 ลูก 1,200 บาท สูญเงิน เสียความรู้สึก ทั้งอับอายส่งให้ญาติแต่กินไม่ได้ ทำเสียชื่อเสียงและเศรษฐกิจ จ.ศรีสะเกษ ผู้ว่าฯ สั่งเต้นคุมเข้ม ขู่ดำเนินคดีเด็ดขาด
วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ขณะนี้ทุเรียนภูเขาไฟของ จ.ศรีสะเกษได้รับความนิยมจากนักบริโภคทุเรียนทั่วประเทศ ส่งผลให้ความต้องการทุเรียนภูเขาไฟสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในช่วงนี้เกิดพายุฝนตกหนักในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ทำให้สวนทุเรียนได้รับผลกระทบลูกทุเรียนร่วงหล่นเสียหายจำนวนมาก ส่งผลให้มีทุเรียนออกสู่ท้องตลาดน้อยกว่าทุกปีขณะที่ความต้องการตลาดมีสูง ทำให้มีการนำทุเรียนจากต่างจังหวัดมาวางขายโดยแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนภูเขาไฟของ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งขายได้ในราคาสูงมากถึง กก.ละ 150 บาท ขณะเดียวกันมีชาวสวนทุเรียนศรีสะเกษที่เห็นแก่ได้บางรายนำทุเรียนอ่อนออกมาขายก่อนกำหนด ทำให้ประชาชนที่ซื้อทุเรียนมาบริโภคต้องเจอทุเรียนอ่อน และเมื่อส่งไปให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องต่างจังหวัดแต่ไม่สามารถกินทุเรียนอ่อนได้ สร้างความเสียหายทั้งด้านชื่อเสียงและเศรษฐกิจโดยรวมของ จ.ศรีสะเกษ เป็นอย่างมาก
นายกรรณชิต ปรีชาเสถียร อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1329/25 ถ.ราชการรถไฟ ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนได้ไปซื้อทุเรียนจากรถเร่ขายทุเรียนบริเวณแถวหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ข้างรถมีการติดป้ายว่าเป็น “ทุเรียนภูเขาไฟ” จึงได้จอดรถเข้าไปแวะซื้อทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมา 2 ลูก รวมน้ำหนักแล้ว 8 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 150 บาท เป็นเงิน 1,200 บาท โดยจะเอาไว้กินในครอบครัว 1 ลูก และส่งไปให้ญาติทำงานอยู่กรุงเทพฯ อีก 1 ลูก แต่เมื่อได้ผ่าแกะทุเรียนภูเขาไฟหวังกินให้อร่อยปรากฏว่าทุเรียนที่ซื้อมาเป็นทุเรียนอ่อน ไม่สามารถกินได้ อีกทั้งญาติที่ตนส่งทุเรียนไปให้ที่กรุงเทพฯ ได้โทรศัพท์มาต่อว่าทำไมส่งทุเรียนอ่อนไปให้ ต้องโยนทิ้งขยะและอายเพื่อนชาวกรุงเทพฯ ที่เชิญมาชิมกินทุเรียนภูเขาไฟด้วยกันกลับกลายเป็นทุเรียนอ่อน ตนจึงได้รีบกลับไปที่รถเร่ขายทุเรียนภูเขาไฟดังกล่าว แต่ไม่ได้มาจอดขายที่เดิมแล้ว
จากนั้นตนจึงจะไปซื้อทุเรียนที่มีการนำมาวางขายพร้อมติดป้ายว่า “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เช่นกัน แต่เพื่อนที่ไปด้วยกันบอกว่าอย่าไปซื้อเพราะเป็นทุเรียนภูเขาไฟเถื่อน ที่นำมาจากจังหวัดอื่นมาขายเช่นกัน ซึ่งทำให้ตนเสียความรู้สึกและอับอายญาติที่ส่งทุเรียนอ่อนไปให้เป็นอย่างมาก แถมต้องเสียเงินฟรีทั้งค่าทุเรียนและเงินค่าส่งทางไปรษณีย์ด้วย
“จึงอยากฝากถามดังๆ ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของ จ.ศรีสะเกษว่า ไม่มีวิธีการหรือมาตรการใดในการที่จะดูแลเรื่องปัญหาทุเรียนเถื่อนและทุเรียนภูเขาไฟอ่อนที่นำมาขายในช่วงนี้เลยหรืออย่างไร ทำให้เสียชื่อเสียงของ จ.ศรีสะเกษเป็นอย่างมาก ขณะที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดีแต่โฆษณาทุเรียนภูเขาไฟ แต่เมื่อชาวบ้านซื้อมากินแล้วเจอแต่ทุเรียนอ่อน ทุเรียนเถื่อน เป็นเรื่องที่แย่มาก” นายกรรณชิตกล่าว
ทางด้าน นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคทุเรียนภูเขาไฟ ในปีนี้จะมีการติดสติกเกอร์ QR Code ทุกลูก ทำให้สามารถทราบได้ว่าทุเรียนลูกนี้มาจากสวนไหน นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางการร้องเรียนปัญหาทุเรียนอ่อนผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ พร้อมขอสั่งห้ามเจ้าของสวนทุเรียนนำเอาทุเรียนอ่อนออกมาขายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ชื่อเสียงคุณภาพของทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเสียหาย และห้ามนำทุเรียนจากที่อื่นมาแอบอ้างขายเพื่อปั่นราคาให้สูง ซึ่งหากเจ้าของสวนผลไม้แห่งใดฝ่าฝืนจะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด