xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง! ตายผ่อนส่ง ชาวโคกสะอาดคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขายเกินกว่า 2 ทศวรรษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชี้ชาวบ้านโคกสะอาดยึดอาชีพรับซื้อของเก่าและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงตายผ่อนส่ง เหตุกำจัดขยะโดยการเผาและสัมผัสสารพิษทุกวัน วอนหน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่สร้างเตาเผากำจัดขยะอย่างถูกวิธี หลังพบปัญหาซ้ำซากมานานกว่า 20 ปี ด้านชาวบ้านรู้ว่าอันตราย แต่ยังต้องทำกันต่อเพราะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าทำนาเพียงอย่างเดียว

จากกรณีเจ้าหน้าที่พบข้อมูลมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้ามาในพื้นที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มากกว่า 1,200 ตันต่อเดือน เฉลี่ยปีละกว่า 2 หมื่นตัน เนื่องจากส่วนใหญ่ชาวบ้านยึดอาชีพตระเวนรับซื้อของเก่า โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แล้วนำมาทำการคัดแยกชิ้นส่วนขาย

แต่กลับประสบปัญหาการกำจัดขยะเหลือที่ไม่มีค่าอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการเผากลางแจ้ง และขาดสถานที่จัดเก็บมานานหลายสิบปี จนทำให้บ่อเก็บขยะเล็กทรอนิกส์ของทาง อบต.โคกสะอาดไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ยังพบข้อมูลด้วยว่า นอกจากปัญหาการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลืออย่างไม่ถูกวิธีด้วยการเผากลางแจ้งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศแล้วนั้น การรับซื้อของเก่าและคัดแยกขยะยังเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้เกิดโรคต่างๆ ตามมาในภายหลัง เพราะต้องสัมผัสสารพิษอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นการตายผ่อนส่ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคยุงลาย เสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย

นายประเทือง นาถมทอง รองปลัด อบต.โคกสะอาด เล่าว่า การทำอาชีพรับซื้อของเก่า โดยเฉพาะโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของชาวบ้านใน ต.โคกสะอาดนั้นมีนานมากกว่า 20 ปีแล้ว และยังคงประสบปัญหาเดิมๆ หมักหมมมานานกว่า 20 ปีเช่นกัน เพราะยังขาดการเข้ามาให้การส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง ที่สำคัญชาวบ้านคงมีพฤติกรรมเดิมๆ คือเคยคัดแยกขยะอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมาโดยตลอด แม้จะทราบดีว่าจะทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ

ซึ่งทุกคนทราบหมด แม้มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้และแนะวิธีการป้องกัน แต่เวลาทำจริงๆ สิ่งที่แนะนำกลับไม่ปฏิบัติ เนื่องจากเป็นความเคยชินและความไม่กลัว

นายประเทืองกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งไหน สารเคมีอะไรจะเข้าสู่ร่างกายบ้างชาวบ้านรู้หมดแต่ไม่กลัว ซึ่งสิ่งที่มีการพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้วในเรื่องแนวทางการแก้ไขจะต้องมีกฎหมายในการบังคับใช้ในเรื่องจัดระเบียบ จัดระบบและการคัดแยกขยะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ครอบคลุม ตั้งแต่ต้นทางการรับซื้อของเก่ามาจนถึงการคัดแยกขยะและการกำจัดขยะที่ไม่มีราคา

โดยเฉพาะการกำจัดขยะโดยวิธีการเผาอย่างไม่ถูกวิธี และการคัดแยกขยะที่ปราศจากความรู้ในการป้องกัน

เพราะหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะอย่างนี้ต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษสู่อากาศมากขึ้นในอนาคต ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพนั้นผู้ที่ประกอบอาชีพนี้เปรียบเสมือนการตายผ่อนส่ง เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รับมาทุกวันในพื้นที่ ต.โคกสะอาดเฉลี่ยมากกว่า 1,200 ตันต่อเดือน หรือปีละกว่า 2 หมื่นตันนั้น จะต้องทำการคัดแยกและสัมผัสสารพิษทุกวัน ทำให้ร่างกายต้องรับสารพิษสะสมทุกวันก็เสี่ยงที่จะล้มป่วยเป็นโรคต่างๆ ในอนาคต

“แต่ชาวบ้านยังคงทำเพราะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมานาน ซึ่งชาวบ้านต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างเตาเผาขยะและสถานที่เก็บอย่างถูกวิธี”

ด้านนายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของขยะอิเล็กทรอนิกส์ของชุมชน ต.โคกสะอาด นั้นเป็นปัญหาเดิมและเป็นเรื่องเดิมๆ ที่หลายภาคส่วนมีการพูดคุยกันและพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เสร็จสักที เพราะจะต้องได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วย

สำหรับปัญหาด้านสุขภาพนั้นในช่วงปี 2556-2557 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจเลือดหาสารตะกั่วให้แก่ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ครอบครัวยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

ในปี 2556 พบสารตะกั่วในเด็ก 1 รายที่เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน และในปี 2557 พบในเด็กอีก 1 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้และแยกออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการประกอบอาชีพค้าของเก่าและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโลหะหนัก และได้ตรวจซ้ำก็ไม่พบสารตะกั่ว

นายศิริศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจเลือดในผู้ใหญ่นั้นบางคนก็พบสารตะกั่วในร่างกายแต่ยังไม่เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ดังนั้น ในเรื่องของการแสดงอาการของโรคเกี่ยวกับโลหะหนักที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพนี้ยังไม่เห็นเป็นอาการชัดว่าจะเกิดอาการอย่างไรกับคนในพื้นที่ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการประกอบการค้าของเก่าและคัดแยกขยะนั้นจะมีเศษวัสดุที่ไม่สามารถขายได้และนำมากองไว้รวมกันตามจุดต่างๆ และกำจัดไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกมากกว่าพื้นที่อื่นและควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก นอกจากนี้ การประกอบการค้าของเก่ายังเสี่ยงในเรื่องของอาหารการกินที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงได้ง่าย ซึ่งประชาชนที่ประกอบอาชีพนี้ต้องหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง และควรที่จะล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสการคัดแยกขยะ และต้องรับประทานอาหารร้อนที่ทำเสร็จใหม่ด้วย

ขณะที่นางยศ มูลระเอก อายุ 64 ปี ชาวบ้านหนองบัวสะอาด ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า โดยเลือกซื้อเฉพาะตู้เย็น และเครื่องซักผ้าจากครัวเรือนต่างๆ แล้วนำมาซ่อมขายต่อเป็นของมือสองมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพราะเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันได้สืบทอดไปยังลูกหลานด้วย ทั้งนี้ กิจการของครอบครัวไม่ได้ใหญ่โตเหมือนโรงงาน

แต่เป็นเพียงกิจการครัวเรือนเล็กๆ ที่รับซื้อของเก่าแล้วมาซ่อมเท่านั้น ไม่ได้ทำการคัดแยกขาย ส่วนอะไหล่ที่เหลือก็จะขายต่อไปยังเพื่อนบ้านที่มีอาชีพคัดแยกชิ้นส่วน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ยึดอาชีพนี้เนื่องจากเป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้จากการทำนาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2-3 หมื่นบาท เพราะการทำนาอย่างเดียวรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน


กำลังโหลดความคิดเห็น