กาญจนบุรี - ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ห่วงคนไทยใช้น้ำแม่กลอง หลังพบกรมควบคุมมลพิษ ฟื้นฟูลำห้วยด้วยวิธีฝังกลบ แนะให้แก้ไขให้ได้ค่ามาตรฐานตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ทางกรมควบคุมมลพิษเริ่มกระบวนการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองมากว่า 5 ปี ซึ่งล่าช้าอย่างมาก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในแผนการฟื้นฟู คือ ไม่มีการดูดตะกอนตะกั่วออกทั้งหมดในลำห้วย โดยดูดเพียงไม่กี่จุด ทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงแต่งแร่เดิมก็ไม่มีการเอาตะกั่วที่มีอยู่ออกทั้งหมด ดังนั้น แม้สิ้นสุดแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในปี 2563 ลำห้วยคลิตี้ และโรงแต่งแร่ก็ยังมีสารตะกั่วปนเปื้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน และธรรมชาติ
ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งไหลมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ซึ่งรวมถึงการกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนซึ่งเป็นผู้แทนของชาวบ้านคลิตี้ เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมมลพิษควรนำตะกั่วทั้งหมดที่ปนเปื้อนบริเวณโรงแต่งแร่ที่เป็นจุดกำเนิดมลพิษ และในลำห้วยคลิตี้ที่มีการปนเปื้อนออกทั้งหมด ด้วยการให้บริษัทรับกำจัดของเสียอุตสาหกรรมดำเนินการ ซึ่งจะมีการขนส่งไปสู่โรงงานเพื่อใช้กระบวนการกำจัดมลพิษเหล่านี้ให้มีสภาพไม่เป็นมลพิษ แล้วจึงฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท กรมควบคุมมลพิษ เคยใช้วิธีนี้กำจัดมลพิษที่ลำห้วยคลิตี้มาแล้วในหลุม 4 หลุมริมลำห้วย เมื่อราว 10 ปีก่อน
แต่ครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษกลับทำเพียงย้ายที่อยู่ของมลพิษจากในลำห้วย ไปฝังกลบในหลุมบ่อเหนือลำห้วยคลิตี้ในพื้นที่ป่า โดยไม่มีการกำจัดมลพิษ ถ้ามีการรั่วไหล มลพิษเหล่านี้จะไหลกลับลงสู่ลำห้วยคลิตี้ และมาสู่หมู่บ้านคลิตี้ล่างเช่นเดิม
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูที่ล่าช้า และทำไม่ถูกต้องครบถ้วนนี้ ไม่ใช่มีผลเฉพาะชาวบ้านคลิตี้ หรือสัตว์ที่อยู่บริเวณลำห้วย หรือชาว จ.กาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ และคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯ และปริมลฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนน้ำแม่น้ำแม่กลองทั้งหมดก็ไหลลงสะสมในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศ
ในส่วนคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 151 ราย นำโดยนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้บริษัทฯ และกรรมการชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36,050,000 บาท และให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ ปัจจุบันบริษัทฯ และกรรมการก็ยังไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ผู้แทนชาวบ้านในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่าชาวบ้านที่เป็นกรรมการต่างหมุนเวียนกันสอบถามขอ TOR หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง ที่กล่าวถึงขอบเขต และรายละเอียดการฟื้นฟู จากกรมควบคุมมลพิษ หลายต่อหลายครั้ง
แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยง และยังไม่ได้รับจนปัจจุบัน ทั้งๆ ที่กระบวนการฟื้นฟูเริ่มทยอยดำเนินการมาหลายเดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ จนชาวบ้านต่างกังวลว่า กรมควบคุมมลพิษกำลังปกปิดความจริงอะไรหรือไม่
กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว มีระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ใช้เงินดำเนินการเกือบ 600 ล้านบาท โดยดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ บริเวณหมู่บ้านคลิตี้บน ระยะทาง 1.98 กิโลเมตร และบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร
ส่วน นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ผู้แทนชาวบ้านอีกคนในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว กล่าวว่า เมื่อตนขอเข้าไปตรวจสอบกระบวนการฟื้นฟูในพื้นที่ก็มักได้รับการกีดกัน ด้วยข้ออ้างที่ว่า เพื่อความปลอดภัย การกีดกันดังกล่าวทำให้ยากที่ชาวบ้านจะดำเนินการติดตามตรวจสอบการฟื้นฟูว่าเป็นไปตามข้อตกลงสามฝ่าย และเพื่อให้แน่ใจได้ว่า การฟื้นฟูจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่เป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มจากปัญหาเดิม
นายวิจิตร อรุณศรีสุวรรณ ชาวบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า เดิมกรมควบคุมมลพิษแจ้งกับชาวบ้านว่าจะมีการขุดลอกเอาตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้นดินออก แล้วจึงปูทับด้วยหินลูกรัง จากนั้นจึงนำดินมาปิดทับอีกครั้ง แต่การดำเนินการช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับไม่มีการขุดลอกดินปนเปื้อนตะกั่วออกเลย โดยมีเพียงการนำหินลูกรังมาปิดทับเท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินการไม่ตรงกับที่เคยชี้แจงกันชาวบ้าน การทำอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นการฟื้นฟูเพราะตะกั่วก็ยังอยู่เช่นเดิม ไม่มีการนำออกไปกำจัด