กาญจนบุรี - ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เผยศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม ให้เหมืองคลิตี้ ชดใช้ค่าเสียหายให้กรมควบคุมมลพิษ 6.8 ล้านบาท พบมีทั้งค่าปลา ค่าเสียโอกาสใช้น้ำ และค่าดำเนินการ
จากกรณีที่โรงแต่งแร่ ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จนทำให้น้ำในลำห้วยคลิตี้เสียหาย ไม่สามารถใช้ได้ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เจ็บป่วยล้มตาย จนเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2541 ต่อมา ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองกลาง ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษนั้น
ล่าสุด วันนี้ (8 พ.ค.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษต่อศาลยุติธรรมเป็นคดีแพ่ง โดยเรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้น้ำในลำห้วยของชาวบ้านเป็นเงิน 125,427 บาท ค่าปลา ที่ชาวบ้านต้องซื้อจากแหล่งอื่นมาบริโภคแทนปลาในลำห้วยที่ไม่สามารถบริโภคได้ เป็นเงิน 6,643,092 บาท และค่าดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2541 เป็นเงิน 1,341,962.54 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,110,481.54 บาท
เมื่อไม่นานมานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำพิพากษาให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริษัททุกคน รวมทั้งผู้จัดการมรดกของกรรมการที่เสียชีวิตไปแล้วร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 6,841,962.54 บาท แก่กรมควบคุมมลพิษ
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556 จนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 กรมควบคุมมลพิษ ได้ว่าจ้างบริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟูมีกำหนด 1,000 วัน งบประมาณ 454 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จำนวน 454 ล้านบาทนี้ กรมควบคุมมลพิษ ต้องเรียกจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษ หากไม่จ่ายต้องฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติคือ ลำห้วยคลิตี้เสียหายตลอดสาย ซึ่งเป็นความเสียหายมหาศาล ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นๆ กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต้องเรียกร้องค่าเสียหาย และดำเนินคดีต่อผู้ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย เนื่องจากความเสียหายเกิดในพื้นที่เขตป่าสงวน และเขตอุทยานแห่งชาติ