xs
xsm
sm
md
lg

ครูเมืองน้ำดำลุยทำสวนผักหวานป่าเตรียมรับวัยเกษียณ รายได้ 600 บาทต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ครูโรงเรียนบ้านดงไร่วัย 60 ปีเตรียมตัวเกษียณด้วยวิถีเกษตรพอเพียง กับสวนผักหวานป่าที่ปลูกสลับกับกล้วยนวล(กล้วยญวน) ที่ใช้เป็นพืชพี่เลี้ยงดูดซับน้ำเลี้ยงผักหวานป่าแม้แห้งแล้งก็สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี รายได้ 600 บาทต่อวัน

ที่บ้านดงไร่ ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสุรชัย การอรุณ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ รักษาการรอง ผอ.ร.ร.บ้านดงไร่ราษฎร์พัฒนา และนางระพีพรรณ การอรุณ ภรรยาซึ่งมีอาชีพข้าราชการครูเช่นเดียวกัน ทั้งสองมีความสุขกับการดูแลและเก็บขายยอดผักหวานป่าที่ปลูกไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน แก้ไขพื้นที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ สามารถปลูกพืชเพื่อทำการเกษตรได้ทุกฤดูกาล

นายสุรชัย การอรุณ ครูชำนาญการพิเศษ ใกล้วัยเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ ได้เริ่มเตรียมตัวรับชีวิตเกษียณตั้งแต่เมื่ออายุ 50 ปี สิ่งแรกที่นึกถึงคืออาชีพเกษตรกร โดยได้ทดลองทำการเกษตรมาหลากหลาย แต่ด้วยความชื่นชอบรับประทานผักหวานป่าเป็นทุนเดิม กับความผูกพันในอดีตที่แม่มักจะพาจ้างเหมารถไปหาเก็บผักหวานป่าในวัยเด็กเป็นความยากลำบากกว่าจะได้รับประทาน


จึงมีความคิดที่จะเรียนรู้ลองผิดลองถูกการปลูกผักหวานป่า โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนดงไร่ราษฎร์พัฒนาเป็นแปลงปลูกทดลอง คู่ขนานกับการปลูกในสวนหลังบ้านเนื้อที่ 3 ไร่

นายสุรชัยเล่าว่า เคยลงทุนซื้อต้นตอผักหวานป่าปลูกไว้ที่สวน หมดเงินไปเกือบแสน แต่ต้นตอที่ซื้อมาก็ตายไปทั้งหมด ด้วยความพยายามจึงคิดหาทางและเรียนรู้ด้วยตนเองลองผิดลองถูกมาเกือบ 10 ปี จนได้รู้ว่าผักหวานป่าที่จะปลูกได้นั้นต้องเพาะจากเมล็ด ขณะที่การปลูกจะต้องมีพืชพี่เลี้ยงคอยจ่ายน้ำให้ผักหวานป่าตลอดเวลา จนทำให้เข้าใจว่าผักหวานป่านั้นปลูกง่าย ดูแลยาก แต่ผลของความพยายามทำให้ตอนนี้ผักหวานป่าที่ปลูกในสวนหลังบ้านเนื้อที่ 3 ไร่เศษ โดยใช้พันธุ์กล้วยนวล หรือกล้วยญวน เป็นพืชพี่เลี้ยง และก็ประสบความสำเร็จน่าพอใจ

ทุกวันนี้สวนผักหวานป่าสามารถเก็บออกขาย กก.ละ 200 บาท ตลอดทั้งปี ใน 1 วันจะเก็บผักหวานป่าให้แม่ค้าที่มารับซื้อเองถึงสวนวันละ 600 บาทเป็นอย่างน้อย ไม่รวมกับการขายใบตอง ขายปลีกล้วย และผลกล้วย เป็นรายได้สลับหมุนเวียนไป นอกจากนี้ยังมีพืชสวน พืชผักสวนครัวอีกหลายอย่างที่สร้างรายได้ในครอบครัว อีกทั้งต้นกล้าผักหวานที่จำหน่ายเพียงต้นละ 25 บาทเท่านั้น

นายสุรชัยบอกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากโรงเรียนก่อนจะขยายผลมาสู่ชุมชน และเริ่มต้นจากตัวเองที่ใช้สวนหลังบ้านเป็นพื้นที่ปลูกผักหวานเหมือนที่ปลูกในรั้วโรงเรียน ได้ขออนุญาต นายวินัย รัตนมาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนดงไร่ราษฎร์พัฒนา ขอใช้พื้นที่โรงเรียนที่มีเนื้อที่เกือบ 26 ไร่ ขอเป็นสวนเกษตร เลี้ยงปศุสัตว์ และปลูกพืชไร่ 7 ไร่ โดยน้อมนำการทำการเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทาง ผอ.ก็มีความคิดไว้อยู่แล้วจึงเริ่มทำสวนเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับสวนหลังบ้าน และกลายเป็นสถานที่ดูงานสวนผักหวานป่าในวัน-เวลาราชการ

ส่วนหลังเลิกเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเปิดสวนที่บ้านให้เป็นที่ศึกษาดูงาน ทุกวันนี้จากการทำเกษตรและปลูกผักหวานป่าได้เปลี่ยนชีวิตของข้าราชการครูคนหนึ่งไปอย่างสิ้นเชิง จากครูพลศึกษามาเป็นครูสอนเกษตร

นายสุรชัยยังเล่าอีกว่า สวนผักหวานป่าที่เกิดขึ้นเป็นการขยายผลจากโรงเรียนสู่ชุมชน นอกจากตัวเองที่ทำสำเร็จแล้วยังมีชาวบ้านและเกษตรกรรายอื่นๆ ที่มาเรียนรู้จากโรงเรียนดงไร่ราษฎร์พัฒนาไปต่อยอดทำการเกษตรจนประสบความสำเร็จไปแล้วมากมาย สำหรับที่สวนตอนนี้ปลูกต้นผักหวานไปแล้ว 1,500 ต้น โดยใช้สูตรการปลูกขุดหลุมให้ลึกและกว้างระยะห่าง 1 คูณ 1 เมตร ใช้ปุ๋ยคอกรองพื้นก่อนการปลูก สลับกับการปลูกกล้วยควบคู่กับต้นผักหวานป่า และพืชสวนอื่นๆ

ผักหวานป่าที่เพาะเมล็ด หลังจากการปลูกลงดินจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ 2 ปี แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์จะอยู่ที่ 3 ปี ขณะที่ผักหวานป่าถ้าช่วงฤดูกาลคือ ม.ค.-พ.ค.จะให้ผลผลิตสูงเพราะอยู่ในช่วงฤดูกาล แต่ถ้าจะให้ออกนอกฤดูกาลก็สามารถทำได้ด้วยการลิดใบ เด็ดยอด ให้น้ำสม่ำเสมอผลผลิตก็จะออกทั้งปี และที่สำคัญห้ามนำเคมีมาใช้ในสวนผักหวานป่าไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะไม่เช่นนั้นต้นผักหวานป่าจะตายไปแบบยกสวนทั้งหมด ทำให้สวนผักหวานป่าหลังบ้านและสวนเศรษฐกิจพอเพียงหลังโรงเรียนดงไร่ราษฎร์พัฒนาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี

สำหรับสวนผักหวานป่าที่เกิดขึ้นของครูชัย หรือนายสุรชัย การอรุณ ที่กำลังจะเกษียณในไม่ช้านี้ ได้กลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของคนรักการเกษตรที่หมุนเวียนมาศึกษาอยู่เป็นประจำ ซึ่งครูชัยได้ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักหวานป่าให้สำเร็จแบบง่ายๆ ชนิดหมดเปลือกไม่มีกั๊ก และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ขณะนี้ทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ อ.สหัสขันธ์ ได้เตรียมยกระดับให้เป็นหนึ่งในศูนย์โฮมสเตย์เรียนรู้ปลูกผักหวาน ที่จะมีการเปิดคอร์สให้แก่ผู้สนใจปลูกผักหวานป่าได้เข้ามาเรียนรู้กันแบบตัวต่อตัวกันอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น