xs
xsm
sm
md
lg

ชูเทคโนฯ ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่ อ.สหัสขันธ์ เปิดศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรป้อนตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ จะเน้นนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
กาฬสินธุ์ - เปิดศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.ประจำอำเภอสหัสขันธ์ เผยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งเป็นต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ทันต่อโลกสมัยใหม่ เน้นนำเทคโนโลยีส่งเสริมการเกษตรควบคู่เปิดตลาดสินค้าเกษตร ยกระดับเกษตรกรไทยในตลาดการค้าโลก

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) บ้านโคกไม้งาม หมู่ที่ 3 ต.โนนน้ำเกลี้ยง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสมจิตร ธีระบุญชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ Field day ประจำปี 2561 และเปิดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร ประจำอำเภอสหัสขันธ์ มี ว่าที่ ร้อยตรี ธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอสหัสขันธ์, นางกัลยา จรเอียด เกษตร อ.สหัสขันธ์ พร้อมเครือข่ายเกษตรกรจาก 8 ตำบล 85 หมู่บ้านของ อ.สหัสขันธ์ เข้าร่วมกว่า 500 คน

ทั้งนี้ วาระครบ 50 ปีกรมวิชาการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ได้มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงเกษตรกรทุกกลุ่มวัย ควบคู่กับการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ยุคประเทศไทย 4.0 หรือ Young Smart Farmer Thailand 4.0 เน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร การจำหน่าย และสร้างเครือข่าย โดยมี Smart Farmer เป็นต้นแบบ ขณะที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ที่กระจายอยู่ทั้ง 18 อำเภอ อำเภอละ 1 แห่ง จะเป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้อย่างครบวงจร

นางกัลยา จรเอียด เกษตรอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร ศพก.บ้านโคกไม้งาม เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีเกษตรใหม่ๆ โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ ใช้พื้นที่ของนายใบคูณ สามารถ เนื้อที่ 7 ไร่ และเกษตรกรเครือข่ายอีก 6 ไร่ รวม 13 ไร่ เป็น ศพก. นายคูณเป็นเกษตรกรผู้นำบริหารจัดการ มีหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้สนับสนุน

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.สหัสขันธ์ หรือ ศพก. จะมีกิจกรรมหลักทั้งหมด 10 สถานี ประกอบด้วย การใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน, การใช้ชีวภัณฑ์, กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรข้าว, การใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต, ผักพืชสมุนไพรโตไว ขายเร็ว, ไม้ยืนต้นสร้างรายได้ระยะยาว, การเพาะเห็ดโคนในโรงเรือน, เกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ปลูกผักกางมุ้ง และสมุนไพรลูกประคบ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ครบวงจรด้านเทคโนโลยีการเกษตรของ อ.สหัสขันธ์

นายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์จะมี ศพก.ทั้งหมด 18 ศูนย์ และมี ศพก.ทั้งหมด 882 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นศูนย์รวมของเทคโนโลยีการเกษตรยุค 4.0 ที่เกษตรกรจะใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันเอง เป็นต้นแบบของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อโลกสมัยใหม่ ขณะเดียวกัน Field day เป็นการส่งสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ที่เหมาะสมประจำปี 2561/62

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของกรมวิชาการเกษตร การกำกับดูแลเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ในส่วนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 16,536 คน จำนวน 68 แปลง เนื้อที่ 54,507.25 ไร่ ที่โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี มีงบประมาณ 422,499,784 บาท ใน 220 โครงการ กระจายใน 169 ชุมชน ส่วนโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยมีงบประมาณกระจายลงพื้นที่กว่า 139,585,000 บาท ใน 27,703 ครัวเรือน

ด้าน นายสมจิตร ธีระบุญชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 4 กล่าวว่า การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนสินค้าทางเกษตร ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย มีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นคู่แข่งการค้าที่สำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นยกระดับเกษตรกรไทย ทั้งปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกร นำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรปลอดภัยที่ตลาดต้องการสูง ส่วนการลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ และการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบเครือข่ายสหกรณ์ จะทำให้มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองกับตลาดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น