จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสถาบันวิจัยประชากรและสังคมระบุว่า สถานการณ์การออมของครัวเรือนไทยในปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง ประมาณร้อยละ 83 ของครัวเรือนไม่ได้มีการออมเงินประจำ นอกจากนั้นราวๆ ร้อยละ 26 ของครัวเรือนไทยไม่มีเงินออมเลย แม้จะมีการรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการออม แต่อัตราการออมของครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในอัตราต่ำและมีการออมน้อยมาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายจะนำไปสู่ปัญหาตอนที่เกษียณอายุกัน ดังนั้น การให้ข้อมูลและความรู้อย่างเดียวไม่พอ คนส่วนใหญ่รู้ว่าการออมดีและมีประโยชน์อย่างไร แต่ก็ไม่สามารถบังคับตนเองให้มีวินัยในการออมได้ ต้องหาวิธีการอื่นเพื่อที่จะให้คนออมเพิ่มขึ้นให้ได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มโครงการออมจากเงินอนาคต ที่กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 8 จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของคนพบว่า โดยทั่วไปคนจะให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต การใช้เงินในปัจจุบันสามารถสร้างประโยชน์และให้ความพึงพอใจได้ทันที แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากการออมเกิดในอนาคต คนโดยส่วนใหญ่จึงละเลยหรือบังคับตนเองให้ออมได้ยาก เหตุนี้เราจึงเปลี่ยนแนวความคิดในการออมเงินใหม่ โดยไม่ดึงเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันมาออมเพิ่ม แต่เปลี่ยนเป็นดึงเงินจากอนาคตมาออมเพิ่มแทน นั่นก็คือเงินเดือนที่ทหารหน่วยนี้จะได้ในอนาคต โดยหักจากส่วนเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมาออมเพิ่มทุกเดือน เขาก็จะไม่รู้สึกเสียอะไร เงินเดือนที่เพิ่มมาก็ยังได้ใช้จากส่วนต่างที่เหลือจากเงินที่ได้หักเข้าสมทบเงินออมแล้ว การใช้รายได้จากอนาคตเพื่อเพิ่มการออมมีผลทางจิตวิทยาสองส่วนหลัก คือ ทำให้ไม่ต้องลดรายจ่ายในปัจจุบัน ดังนั้นไม่ต้องตัดสินใจและปรับเปลี่ยนอะไรในปัจจุบัน ประเด็นที่สอง เงินที่จะได้ในอนาคตยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง (ยังไม่ได้จริง) คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้ความสำคัญ ดังนั้น การตัดสินใจเพื่อให้หักเงินบางส่วนจากเงินเดือนที่เพิ่มในอนาคตเพื่อมาเพิ่มการออมจึงเป็นเรื่องที่ง่าย การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งทุกนายที่เข้าร่วมโครงการไม่มีใครมาแสดงความจำนงที่จะออกจากโครงการ แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถจูงใจให้ทหารหน่วยนี้ออมเพิ่มได้จริง ๆ
“ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ จากข้อมูลย้อนหลัง 4-5 ปี พบว่าออมขั้นต่ำก็ยังคงออมเดือนละ 700 บาทเท่าเดิม ทั้งที่เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานเมื่อทุกนายเงินเดือนเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยประมาณ 4.5 จากฐานปัจจุบันก็เอาเงินเพิ่มจากที่ปรับขึ้นมาออมในสัดส่วนร้อยละ 10-15-20 ตามความสมัครใจของแต่ละนายที่ต้องการให้หักในอัตราส่วนร้อยละเท่าไหร่ และนับไปในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นอายุราชการเฉลี่ยของหน่วยทหารแห่งนี้ โปรแกรมจะคำนวณเห็นเลยว่าเขาจะมีเงินเก็บเมื่อวัยเกษียณเท่าไหร่ ซึ่งในอัตราร้อยละ 10-15 นายทหารส่วนใหญ่จะมีเงินออมวัยเกษียณอยู่ที่คนละ 1,000,000 บาท และถ้าออมร้อยละ 20 เงินออมในอนาคตก็จะสูงขึ้นไปอีก การดึงเงินออมจากอนาคตในโครงการนี้นั้นเราวางไว้ที่ 3 อัตรา คือ ร้อยละ 10 15 และ 20 เพราะอยากรู้ว่าในการที่จะดึงเงินในอนาคตมาออมนั้นจะจูงใจได้หรือไม่ จึงกำหนดรูปแบบไว้ที่ 3 อัตราดังกล่าว จุดนี้ทำให้ทหารหน่วยนี้สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างมากและมีทหารหน่วยข้างเคียงประสานขอเข้าร่วมโครงการ หรือการจัดทำโครงการเฉพาะของแต่ละหน่วยเพิ่มขึ้นด้วย”
ด้าน พ.ต.อนุชา มหาลีวีรัศมี นายทหารประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กล่าวว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ร้อย. ประจำ ร.8 พัน.3 ได้รับทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของกำลังพลภายในหน่วย ซึ่งปัญหาที่พบคือส่วนใหญ่เรื่องค่าครองชีพ จากการสำรวจในหมวดของเงินออม ในการดำเนินงานของสหกรณ์ประจำหน่วยที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2531 โดยในปี 2557-2558 กำลังพลที่เกษียณอายุราชการ หรือสมัครใจออกจากการรับราชการ มีเงินเก็บสะสมค่อนข้างน้อย ในฐานะผู้นำหน่วยคิดว่าถ้ายังคงใช้วิธีเดิมในการออมเงินเช่นในอดีต จะมีเงินเก็บไม่พอเพียงค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยเฉพาะหลังสิ้นสุดการรับราชการ หากไม่มีแผนการออมเงินที่มีประสิทธิภาพอาจจะเกิดปัญหาได้
“การสร้างแรงจูงใจในการออม เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่าปัญหาในอดีตเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตเราจะไปอย่างไร วิธีการนำเสนอ คือ การใช้รูปแบบกราฟที่หน่วยฯ ได้ประสานงานกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาแสดงให้กำลังพลทุกนายเห็นว่าถ้าเราใช้วิธีเงินออมแบบเดิม เมื่อเกษียณแล้วจะมีเงินเก็บเพียงแค่ 200,000-300,000 บาท แต่ถ้าเข้าร่วมโครงการออมเงินจากอนาคต ระยะการออม 20-30 ปี โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายกำลังพลอายุน้อยที่เพิ่งเข้ารับราชการไม่นาน โดยสัดส่วนการออมเพิ่ม คือ การนำส่วนของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม มาออมเพิ่มในอัตราส่วนระหว่างร้อยละ 10-15-20 แล้วแต่ใครจะเลือกออมเพิ่มในอัตราร้อยละเท่าไหร่จากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น สมมติฐานเงินเดือน 15,000 บาท และเลือกออมเพิ่มจากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 20 ทั้งนี้กองทัพบกจะขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง เริ่มโครงการนี้ปลายปี 59 ตอนนี้เงินเดือนขึ้นมา 3 ครั้งแล้ว โดยเงินเดือนเพิ่มรอบแรก 675 บาท (ฐานเงินเดือน 15,000 บาท ค่าเฉลี่ยเงินเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5) ร้อยละ 20 ของ 675 บาท คือ 135 บาท เดิมที่ทหารแต่ละนายต้องออมในสหกรณ์ฯ เดือนละ 700 บาท บวก 135 บาท ก็จะออมเพิ่มเดือนละ 835 บาท ออมแบบนี้เขาไม่ได้รู้สึกว่าเสียอะไร ไม่ต้องลดการบริโภคในปัจจุบัน และเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นก็ยังได้รับเช่นเดิมเพียงแต่หักส่วนหนึ่งที่เพิ่มมาเข้าสมทบเงินออม ดังนั้น ทุกครั้งที่เงินเดือนเพิ่ม จำนวนเงินออมต่อเดือนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในทุกๆ ปี จนถึงวันเกษียณอายุราชการก็จะมีเงินเก็บมากกว่าการออมแบบเดิม”
จ.ส.อ.พงศ์พันธ์ พงษ์จอหอ รองผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กล่าวว่า รูปแบบการออมเงินจากอนาคตเป็นแนวทางที่ดี เพราะไม่รู้สึกว่าต้องใช้จ่ายลดลง ต้องกระเบียดกระเสียรตัวเองเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น ส่วนเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นก็ยังได้ใช้แม้ส่วนหนึ่งจะถูกหักไปสมทบเงินออมทุกเดือน เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นนั้นถูกออมไปโดยอัตโนมัติ เราไม่รู้สึกเสียอะไร เรามีแต่ได้กับได้ ทุกวันนี้กำลังพลในหน่วยดำเนินชีวิตปกติเพราะเงินเดือนนั้นเพิ่มอยู่แล้ว ปรับขึ้นปีละ 2 ครั้ง แต่เงินออมจากอนาคตตรงนี้แทบไม่กระทบอะไรเลย และทั้งคู่ยังมั่นใจว่าเมื่อเกษียณอายุราชการจะมีเงินเก็บหลักล้านแน่นอน
ผศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า จุดเด่นของโครงการคือ หนึ่ง สามารถจูงใจให้คนออมเพิ่มได้จริง สอง ทำได้ไม่ยาก และสาม แทบไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย มีคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเอ็กเซลก็สามารถทำงานได้แล้ว สำหรับผลตอบรับของโครงการเป็นไปตามที่คาดการณ์ คือ นายทหารทั้งหมดยังอยู่ในโครงการ นับเป็นหลักการในการเพิ่มการออมที่ง่ายแต่ได้ประโยชน์ชัด หลังจากประสบความสำเร็จจากที่นี่ คณะฯ ก็อยากจะขยายโครงการไปยังหน่วยงานอื่นๆ
สำหรับหน่วยงานที่สนใจอยากนำโครงการลักษณะนี้ไปขยายยังหน่วยงานของตน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 08-1629-9772