ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตัวแทนกลุ่มทุนญี่ปุ่นในเมืองศรีราชา สะท้อนปัญหาฉุดการเติบโตภาคอุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรี อยู่ที่ระบบไฟฟ้า,จราจร และความไม่เป็นระเบียบของเมือง ด้าน ผวจ.ชลบุรี รับปากแก้ทุกปัญหาก่อนโครงการ อีอีซี เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน ปธ. ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทองอินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด ( มหาชน) ชี้ อีอีซี นำเม็ดเงินลงทุนเข้าพื้นที่มหาศาล แต่หน่วยงานรัฐต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอกับความต้องการ
ค่ำวานนี้ ( 25 พ.ค.) บริษัท ปิ่นทองอินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด ( มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 1 -5 ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้จัดกิจกรรม “ผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี พบผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ” เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานในนิคมฯปิ่นทอง ทั้งโครงการ 1 -5 จำนวน 218 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ได้สะท้อนถึงปัญหาและความต้องการจากภาครัฐใน การยกระดับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ก่อนการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยจัดขึ้นที่เรือนรับรอง นิคมฯ ปิ่นทอง และมี นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทองอินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด ( มหาชน) นำพนักงานให้การต้อนรับ
โดย นายภัครธรณ์ เทียนชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก็เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหรรมในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กว่า 70% เป็นชาวญี่ปุ่น ว่ามีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองศรีราชา หรือมีผลประกอบการเป็นเช่นไร และต้องการให้ภาครัฐ สนับสนุนในด้านใดบ้าง เนื่องจากในอนาคตการเกิดขึ้นของโครงการ อีอีซี จะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง,รถไฟรางคู่ และสนามบินอู่ตะเภา ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคจะต้องทันกับการขยายตัวของเมือง และภาคอุตสาหกรรม
“ เท่าที่ได้ฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ ก็พบว่าเรื่องหลัก ไฟฟ้า ที่เมื่อมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ ไฟฟ้าตก ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิต ซึ่งผมเองก็รับปากว่าจะไปคุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ส่วนเรื่องการจราจร เรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าติดขัดในช่วงไหนและในจุดใดบ้าง ซึ่งการแก้ไขเบื้องต้น คือการจัดเจ้าหน้าที่ลงไปอำนวยความสะดวกก่อน แต่ในระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทางอำเภอ จะต้องร่วมกับสถาบันการศึกษา วิเคราะห์และออกแบบแนวทางแก้ไขให้ได้”
นายภัครธรณ์ ยังเผยถึงปัญหาถนนมอเตอร์เวย์ ที่ยังคงทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและภาคขนส่งได้รับความเดือดร้อนว่า จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการรับปากว่าจะเร่งแก้ไข เนื่องจากการทำ ทีโออาร์ เกี่ยวกับการก่อสร้างทางด่วน ส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาเพียงจุดเริ่มต้นกับทางลง แต่ไม่ได้พิจาณาถึงทางเข้า-ออกระหว่างทาง ประกอบกับ จ.ชลบุรี มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นเรื่องการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งคาดว่าในอนาคตปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายลง
ผู้บริหารนิคมฯ ปิ่นทอง ชี้รัฐต้องวางแผนรอบคอบ
ขณะที่ นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทองอินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด ( มหาชน) กล่าวว่าปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่เพียงพอ และ การจ่ายไฟที่ไม่สม่ำเสมอถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งในระยะสั้นบริษัทฯ ได้แก้ไข ด้วยการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เครื่องผลิตกระแสไฟเข้าช่วย แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าของตัวเอง เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโครงการ อีอีซี ที่จะมีการลงทุนอีกมหาศาล
“ ปัญหาเรื่องการจราจร ที่ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ และคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องเข้ามาดูแล เพราะปัญหาในวันนี้ไม่ใช่เรื่องทางด่วน แต่เป็นเรื่องถนนที่ใช้กันในท้องถิ่นที่ไม่มีทางเข้า-ออกเพียงพอ และการที่ท่านผู้ว่าฯ ลงมาพูดคุยก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนร่วมถึงผู้ประกอบการ จะได้สะท้อนถึงความเดือดร้อนที่แท้จริง และสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลก็คือ ระบบสาธารณูปโภค หน่วยงานรัฐจะต้องคิดวางแผนก่อนที่จะพัฒนาเมือง เช่นเดียวกับการพัฒนาคนและที่อยู่อาศัย ต้องสอดคล้องกัน เห็นได้จากเสียงสะท้อนของชาวญี่ปุ่นในเมืองศรีราชา เขาต้องการสวนสาธารณะที่มีเครื่องเล่นที่ปลอดภัยสำหรับลูกเขา นั้นไม่ได้หมายถึงเด็กญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตของเด็กไทยด้วย”นายพีระ กล่าว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เสียงสะท้อนจากชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานใน อ.ศรีราชา ส่วนใหญ่คือปัญหากระแสไฟที่มีผลต่อกระบวนการผลิต,คุณภาพชีวิตที่ยังไม่ดีพอ รวมทั้งความไม่เป็นระเบียบของเมือง และปัญหาการจราจร ที่ต้องการให้หน่วยงานท้องถิ่นเร่งแก้ไขโดยเร็ว
ด้าน นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เผยว่าที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้ทั้งนิคมฯของรัฐและเอกชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่อยู่ในโครงการ อีอีซี เร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่นิคมฯ ปิ่นทอง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนิคมฯ ที่อยู่ในโครงการ อีอีซี วันนี้จึงจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล