เลย - จัดพิธีสู่ขวัญควายที่ อ.เชียงคาน จ.เลย นำประเพณีไทยโบราณสืบทอดมากว่า 50 ปี หวังเตือนใจให้คนเลี้ยงระลึกถึงบุญคุณควายที่ให้แรงงานไถนา รู้จักกตัญญูรู้คุณ มีเมตตากรุณา ทั้งขอขมาที่ล่วงเกินเฆี่ยนตี ดุด่า พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรยืมควายไปเลี้ยง
วันนี้ (16 พ.ค. 61) ที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้านท่าบ่ม หมู่ที่ 13 ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย นายวีระพงษ์ บัวระภา ปศุสัตว์จังหวัดเลย ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ควายไทย ไทเชียงคาน และเกษตรกรเครือข่ายกว่า 80 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงควาย ได้จัดกิจกรรมร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานประเพณีสู่ขวัญควาย โดยมีนายชัชพงษ์ อาจแก้ว นายอำเภอเชียงคาน เป็นประธาน พร้อมด้ายสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายวีระพงษ์ บัวระภา ปศุสัตว์จังหวัดเลย กล่าวว่า การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์ควายไทย แม้ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากควายไม่มากเช่นในอดีต ถึงกระนั้นควายยังถือว่ามีบุญคุณ มีความสำคัญต่อผู้เลี้ยง ควรที่ผู้เลี้ยงจะต้องระลึกถึงและดูแลด้วยความเอาใจใส่ กิจกรรมสู่ขวัญควายหรือฮ้องควาย ในอดีตได้ถือปฏิบัติกันมา เมื่อเสร็จจากการทำนาปลูกข้าวแล้ว เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงบุญคุณของควายที่ได้ให้แรงงานไถนา บางครั้งอาจเฆี่ยนตี ดุด่า จึงต้องทำพิธีนี้เพื่อขอขมาที่ได้ล่วงเกิน สอนให้คนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ มีเมตตากรุณา สำนึกในความผิดตน
ในปีนี้ ทางหมู่บ้านได้นำผู้เฒ่าที่อดีตเคยเลี้ยงควาย นำบทสวด ขอขมาควายแบบโบราณ ที่สืบทอดกันมาจากตระกูล นำมาร่วมสวดมนต์ด้วย ซึ่งบทสวดนั้นสืบทอดมากว่า 2 ชั่วอายุคน หรือประมาณ 50 ปี ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระลึกบุญคุณและให้ความสำคัญต่อควายไทย
ทั้งนี้ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ได้มีเกษตรกรที่เลี้ยงควายเป็นอาชีพจำนวน 31 ครอบครัวและยังมีเครือข่ายอีก จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสู่ขวัญควายไทย อันเป็นการรื้อฟื้นกิจกรรมนี้ ที่ได้ละทิ้งหรือไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ซึ่งในจังหวัดเลยมีเกษตรกรที่เลี้ยงควายทั้งหมดประมาณ 700 กว่าตัวที่ได้อนุรักษ์ไว้
เบื้องต้นกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุน โดยร่วมมือกับธนาคารโคกระบือ เพื่อขอควายมาให้เกษตรกรที่ประสงค์อยากจะเลี้ยงควายนำแม่พันธุ์ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงภายใน 5 ปี เมื่อควายที่เลี้ยงออกลูกตัวแรกก็คืนลูกให้กับธนาคารโคกระบือไป ส่วนแม่พันธุ์เป็นของเกษตรกรโดยสมบูรณ์ หรือลูกควายตัวแรกเกษตรกรจะรับซื้อจากธนาคารโคกระบือก็ได้ ซึ่งเป็นการให้ฟรีเกษตรกรเพียงแต่ลงทุนนำไปเลี้ยงขุนให้ตกลูกคอกแรก ควายที่นำไปเลี้ยงก็เป็นของเกษตรกรต่อไป